วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธรรมคู่แข่งขัน

ต้นกล้าแห่งธรรม (www.DharmaSeedlings.Org)

 
หนังสือ  ธรรมคู่แข่งขัน  ธรรมสามัคคี 
ท่านอาจารย์พระมหาบัวฯในกรุงลอนดอน ธัมมะในลิขิต

โดย   ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
           การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลเท่าที่ควร พึงทราบจริตนิสัยของตนก่อนว่าหนักไปในทางใด เพราะ กิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันกัน เหมือนนายแพทย์ผู้ฉลาดก่อนวางยาคนไข้ ก็ตรวจดูสมุฏฐานพร้อมทั้งอาการของโรค แล้วค่อยวางยาให้ตรงกับสมุฏฐานของโรคฉะนั้น เช่น จริตหนักไปในทางเบียดเบียนโหดร้ายต่อผู้อื่น ควรเจริญเมตตาสงสาร เพื่อเป็นเครื่องลบล้างกัน ความเบียดเบียนโหดร้าย เมื่อถูกอบรมด้วยธรรม คือ ความเมตตาแล้ว จะกำเริบรุนแรงไปไม่ได้ นับวันที่จะอ่อนโยนสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ด้วยกัน โดยถ่ายเดียว
                   อนึ่ง สิ่งใดเป็นไปเพื่อความขัดขวางตัดรอนความดี และขัดขวางจิตใจ ไม่ให้ความสะดวกเพื่อประพฤติความดี เมื่ออนุโลมตามแล้วยิ่งกำเริบรังควานใหญ่ เหมือนคนไข้ชอบอาหารแสลงแก่โรค เมื่อรับประทานลงไปยิ่งยังให้โรคกำเริบรุนแรง ฉะนั้น สิ่งนั้นเรียกว่า มาร  มารนี้ท่านจำแนกไว้มี ๕ คือ กิเลสมาร  ขันธมาร  มัจจุมาร  เทวปุตตมาร  และอภิสังขารมาร มารเหล่านี้ท่านก็ให้นามว่าธรรมเหมือนกัน แต่เป็นธรรมฝ่ายชั่ว และเป็นคู่แข่งขันกับธรรมฝ่ายดี ผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมฝ่ายดีจึงต้องรบกับศัตรูเหล่านี้ให้ได้ชัยชนะ

 

(คัดจากหนังสือธรรมคู่แข่งขัน ธรรมสามัคคี  ท่านอาจารย์พระมหาบัวฯ ในกรุงลอนดอน 

ธัมมะในลิขิต  (รวมเล่ม) หน้า ๑๒)


คำนำ


ได้เริ่มคิดแต่งหนังสือเรื่องธรรม โดยให้นามว่า หนังสือธรรมคู่แข่งขัน แต่ความหมายในนามของหนังสือมีว่า ธรรมฝ่ายซักฟอก กับกิเลสฝ่ายมัวหมอง ทั้งสองฝ่ายนี้ทางศาสนธรรมจัดว่าเป็นข้าศึกแห่งกันและกัน คอยจะแย่งบัลลังก์กันเสมอ จึงได้ให้นามอย่างนั้น คงไม่ขัดต่อสังคมนิยม
อนึ่ง ในระหว่างแต่งหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้ามีเวลาน้อย ไม่ค่อยได้ทบทวนให้ถี่ถ้วน คงมีบกพร่องอยู่ไม่น้อย และข้าพเจ้าเป็นพระบ้านนอกอยู่แต่ในป่าโดยมาก จึงไม่ค่อยมีความรู้ และสำนวนโวหารอันไพเราะเพราะพริ้ง เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้ศึกษาในอรรถธรรมอันลึกซึ้ง และขนบธรรมเนียมที่สังคมนิยมและรับรองกัน ทั้งไม่เคยแต่งหนังสือนับแต่วันอุปสมบทมา แม้จะเป็นมหาก็สักแต่ชื่อ ไม่มีภูมิ แต่เพราะความจำเป็นดังกล่าวแล้ว หากว่าท่านสุภาพบัณฑิตอ่านได้พบปะสิ่งบกพร่องก็โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยจะขอบคุณล้นเกล้าฯ

                                                                        พระมหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน

                                                                            ๑๓  มกราคม  ๒๕๐๑


ธรรมคู่แข่งขัน


ก่อนอื่นขอกล่าวเรื่อง เจ้า(ประธาน) ของโลกและธรรมพอเป็นแนวทางของการอธิบายธรรมในแง่ต่าง ๆ
คำว่า เจ้า คือเป็นใหญ่ เป็นประธานของสิ่งทั้งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ และเป็นเจ้าแห่งสมบัติทั้งทางโลก และทางธรรม
ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นหัวหน้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นหัวหน้า คือเจ้าใหญ่นายโตของประชาราษฎร เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นองค์ประมุขของประเทศนั้น ๆ บ้าง ของอำเภอนั้น ๆ บ้าง ของตำบลหมู่บ้าน และของครอบครัวนั้น ๆ บ้าง
ถ้าเป็นฝ่ายศาสนาก็เป็นเจ้าแห่งสงฆ์ คือเป็นศาสดาของสงฆ์บ้าง เป็นสังฆราชแห่งสงฆ์บ้าง เป็นสังฆนายก สังฆมนตรี เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบลและเจ้าอาวาส และยังมีรองเจ้าคณะนั้น ๆ ตามลำดับชั้นลงมา
นี้จัดเป็นฝ่ายโลก ฝ่ายธรรม และผู้เป็นประธานแผนกหนึ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดเป็นโลก เป็นธรรม และผู้เป็นประธานอีกแผนกหนึ่ง
คำว่า โลกโดยย่อ มี ๓ คือ
กามโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ยังไม่ปราศจากกามารมณ์ นับแต่สวรรค์ชั้นฉกามาพจรลงมาถึงมนุษย์ และสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ซึ่งมีกามเป็นเจ้าครองใจ จัดว่า กามภพ กามภูมิ ทั้งนั้น
รูปโลก ได้แก่ พรหมโลก ซึ่งเป็นโลกปราศจากกามารมณ์ด้วยอำนาจแห่งฌานมี พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นเครื่องอยู่ กับมี  ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น ประจำใจ ฌานเหล่านี้มีความละเอียดกว่ากันเป็นชั้นตามลำดับ
และอรูปโลก โลกนี้ก็ให้ชื่อว่า พรหม เหมือนกัน แต่ชั้นนี้เบื่อรูปโลกด้วย มีฌาน ๔ เรียกว่า อรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น มีความละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ และละเอียดกว่ารูปฌานเบื้องต้นด้วย
ทั้งสามโลกรวมเข้าด้วยกัน เรียกว่า ไตรโลก หรือ ไตรภพ เป็นที่อยู่ของสัตว์ ผู้มีกิเลสเป็นเจ้าครองใจ
ธรรมแยกโดยย่อ มี  ๓ คือ กุศลธรรม ธรรมฝ่ายดี  อกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่ว และอัพยากตธรรม ธรรมกลาง ๆ ปราศจากดี ชั่ว
โลกกับธรรมทั้งสองนี้ ถ้าเป็นสมบัติก็เรียกว่ายังเรี่ยราด ปราศจากเจ้าของผู้รับผิดชอบชั่วดี ฉะนั้น เพื่อให้โลกกับธรรมทั้งสองมีความหมายเด่นชัดขึ้นเต็มที่ จึงต้องยกตัวประธานมากำกับ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นสมบัติลอยลมไปเสีย
          ตัวประธานในที่นี้หมายถึง ใจ ใจนี้เป็นธรรมอันหนึ่งซึ่งมองด้วยตาเนื้อและตากล้องไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่สิงอยู่ในกายมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท มีความรู้สึกคิดนึกอยู่ภายในกาย จัดเป็นธาตุรู้อันหนึ่งจากกายมนุษย์และสัตว์ แม้จะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสัมผัสทางอายตนะภายนอกก็ตาม ธาตุรู้อันนี้จะทรงความรู้ไว้เสมอ ตลอดเวลาทั้งหลับและตื่น ไม่ละความรู้แม้แต่ขณะเดียวตลอด ๒๔ ชั่วโมง ของวัน เดือน ปีที่ผ่านไป แต่ธาตุรู้อันนี้เป็นธาตุรู้ธรรมดาเฉย ๆ ไม่มีอะไรปรุงก็รู้  เมื่อมีเครื่องปรุงธาตุรู้อันนี้ก็เปลี่ยนสภาพไปตามอารมณ์ทันทีที่มากระทบ ตามแต่อารมณ์จะมีความหมายไปอย่างไร เช่น อายตนะภายนอก มีรูปเป็นต้น มากระทบอายตนะภายใน มีตาเป็นต้น ธาตุรู้นั้นจะกระเพื่อมขึ้นเป็นความรู้ประเภทหนึ่ง จากความรู้เดิมทันที คือเป็นความรู้ซ้อน ๆ กันขึ้นมาเป็นพัก ๆ มีลักษณะให้รักบ้าง ชังบ้าง เพลินบ้าง โศกบ้าง แฝงขึ้นมาทันที ความจริงแล้วไม่ใช่ธาตุรู้เดิม แต่อาศัยธาตุเดิมเกิดขึ้น  ฉะนั้นสิ่งทั้งนี้จึงเกิดได้ ดับได้ไม่แน่นอน ตกอยู่ใน ไตรลักษณ์ ๓ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง  ทุกขัง เมื่อหลงตามก็ลำบาก  อนัตตา เป็นไปตามสภาพของสภาวะทั้งหลาย ลักษณะทั้งนี้แล้วแต่สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นไป
          เราจะทราบความรู้เดิมกับความรู้แทรกได้ชัด ในเวลาหลับกับเวลาตื่น เวลากระทบอารมณ์กับเวลาปกติจิต คนมีสติธรรมดากับคนที่ได้รับการอบรมธรรมทางด้านจิตใจจนได้ความสงบ และคนที่มีภูมิธรรมอันละเอียด กับท่านผู้มี สติวินัยคือพระอรหันต์ ทั้ง ๆ ที่ธาตุความรู้เดิมมีอยู่ในบุคคลทั่วไปไม่แปลกต่างกัน แต่อาการของความรู้เดิมจะค่อยเปลี่ยนสภาพในตัวเองจากการอบรมธรรมเป็นขั้น ๆ จากขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด ในที่สุดจะไม่ปรากฏอาการรักชัง เป็นต้น เหลืออยู่ในธาตุรู้เดิมของผู้ปฏิบัติอบรมใจด้วยธรรมนั้นเลย อาการทั้งนี้จะพึงทราบจากบุคคลซึ่งได้รับการอบรมมาเป็นลำดับและนักสังเกตจิต
                        ธาตุรู้ ซึ่งให้นามว่า จิต นี้ทรงไว้ซึ่งความรู้ คือหลับก็รู้ หลับสนิทก็รู้ ตื่นก็รู้ และฝันเรื่องอะไรก็รู้ กระทบอารมณ์ซึ่งจะเป็นเหตุให้ดีใจเสียใจก็รู้ รับรู้ไว้หมดไม่ลำเอียง กิริยาที่ลำเอียงเป็นธาตุแทรก หรือความรู้ที่แทรก ความรู้สึกเดิมนี้ถ้าเปรียบเทียบ เหมือนเหล็กหรือเงินทองทั้งดุ้นซึ่งยังไม่ได้ถลุง หรือเจียระไนให้เป็นของควรแก่เครื่องประดับที่จะพึงซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์ได้ตามความนิยม จะยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะยังไม่ได้รับการอบรมให้ควรแก่เหตุ เหมือนทารกซึ่งยังไม่รู้เดียงสา แม้จะถูกน้ำร้อนหรือไฟไหม้ ก็จะรู้สึกแต่ความเจ็บปวดเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่รู้วิธีที่จะหาทางออกจากอันตรายให้พ้นภัยไปได้
                        ความรู้เดิมนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักดับ แต่สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่ากิเลสยังมีอยู่ตราบใด ก็เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวไปตามกระแสของ วัฏฏะ ตราบนั้น หมุนไปเวียนมา ออกจากร่างนี้เข้าสู่ร่างนั้น ซึ่งให้นามว่า เกิด ตาย จะเป็นกำเนิดหรือฐานะต่ำต้อยเลวทรามอย่างไร ก็ไม่อาจจะพึงเลือกได้ สิ่งแวดล้อมที่มีกำลังเหนือกว่าจะขับไล่ไสส่งไปไหนก็ต้องไปทั้งนั้น เหมือนทารกปราศจากพี่เลี้ยงย่อมเป็นไปตามยถากรรม จะตกน้ำเข้าไฟ ตกเหวตกบ่อแล้วแต่ขาพาไป ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ฉะนั้น เมื่อกายแตก จิตออกจากร่างไปถือปฏิสนธิก่อรูปร่างขึ้นใหม่ สวยงามบ้างไม่สวยงามบ้าง กำเนิดสูงบ้างต่ำบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาอินทร์พรหมบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะคว้าถูกมือ เหมือนคนตกน้ำคว้าหาที่พึ่งเพราะกลัวความตายฉะนั้น
                        แม้ขณะที่จะเข้าสู่ปฏิสนธิในกำเนิดต่าง ๆ ก็หารู้ไม่ว่าเป็นกำเนิดประเภทใด ถ้าเป็นกำเนิดมนุษย์ ก็ต้องรู้ภาวะเดียงสาแล้ว กาลใดจึงจะรู้ว่าตนเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลนั้น ๆ ถ้าเป็นสัตว์ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร เมื่อปรากฏเป็นตัวผลขึ้นมาแล้ว จะแก้ไขก็ไม่ได้ เป็นของเหลือวิสัยเพราะสายไปเสียแล้ว แม้จะสูงหรือต่ำโดยกำเนิด โดยชาติหรือตระกูล ก็จำเป็นให้ยินดีในภพชาติและตระกูลของตน จะมีจะจน จะสุขจะทุกข์ก็แล้วแต่กรรมพาให้นิยม ตลอดอาหารในภพนั้น ๆ ก็พึงยินดีและบริโภคตามฐานะแห่งกำเนิดของตน ๆ ต่างกำเนิดต่างก็ยินดีในกรรมและวิบากแห่งกรรมของตนเอง ซึ่งพอที่จะอำนวยชีวิตให้เป็นไปในภพนั้น ๆ เนื่องจากจิตที่ไม่รู้จักเกิดตายเป็นตัวเหตุให้ สังสารจักร หมุนไม่หยุด จึงเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ได้รับความลำบากทั่วหน้ากัน ในเมื่อไม่รู้จักวิธีแก้ไขที่พอเหมาะพอดีแก่การหักห้าม วัฏจักร ให้หยุดในการท่องเที่ยวหมุนเวียน ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติอันนี้จะเป็นเจ้าโลกเจ้าธรรมอยู่นั่นเอง แต่ก็ยังฟุบตัวลงเป็นเขียงเท้าของสิ่งแวดล้อมอย่างโงหัวขึ้นไม่ได้ เหตุทั้งนี้ก็เพราะปล่อยใจให้เป็นไปตามยถากรรมเกินไป เมื่อใจได้รับความยับยั้งหรืออบรมด้วยธรรม ซึ่งเป็นสวากขาตธรรมแล้ว จิตจะเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ แต่สิ่งอื่นที่จะสามารถบังคับยับยั้งจิตไม่มี นอกจากจิตจะยับยั้งตนเองด้วยธรรม
                        คำว่า ธรรม ก็คือ จิตซึ่งประดิษฐ์อุบายที่ชอบขึ้นจากใจ เมื่อจาระไนออกก็เป็น มัชฌิมา คือ มรรค ๘ สำเร็จรูปขึ้นมาก็เรียกว่า ธรรม บางทีอาจมีข้อสงสัยว่าอะไรก็อยู่ที่ใจหมดแล้ว จำเป็นอะไรจะต้องไปแสวงหาธรรมอันจะพึงขวนขวายด้วยกายวาจาอีกเล่า? จริงอยู่ เมื่อนักสังเกตเหตุผลได้ปฏิบัติบำเพ็ญจิตจนปรากฏธรรมในจิต จิตในธรรม อะไรก็เห็นว่าเป็นธรรมด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องแสวงหาธรรมด้วยกาย วาจา ใจเพื่ออะไรอีก นอกจากจะประพฤติทำนองเสือไม่ทิ้งลาย นักปราชญ์ไม่ประมาทในธรรมเท่านั้น และอาจสำคัญว่า เมื่อธรรมอยู่ที่ใจแล้วอาจจะงอมืองอเท้า ไม่อยากแสวงหาความดีด้วยกาย วาจา คอยเฝ้ารู้ธรรมอยู่ที่จิตอย่างเดียวก็พอแล้ว อย่างนี้พึงระลึกถึงข้าวสุกมาจากข้าวสาร ข้าวสารมาจากข้าวเปลือก ข้าวเปลือกมิได้มาจากความอิ่มหนำสำราญอย่างเดียว ซึ่งจะคอยเฝ้าเฉพาะความอิ่มอยู่เท่านั้น ที่ถูกข้าวเปลือกลำเลียงมาจากทุ่งนา และเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำนามีมาก และยังต้องอาศัยคนและสัตว์เป็นแรงงานในการทำนาอีก ตลอดพันธุ์ข้าวที่ดี ๆ ประกอบกันเข้าหลายอย่าง จึงจะเป็นผลสะท้อนมาถึงข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุก และการรับประทานจึงจะเป็นผลมาถึงความเอร็ดอร่อย และความอิ่มหนำสำราญ ธาตุขันธ์จึงจะมีกำลังต้านทานโรคและควรแก่การงาน ตลอดความเป็นอยู่สิ้นอายุขัยได้ คำที่ว่า ธรรมอยู่ที่ใจ ก็พึงทราบโดยนัยนี้ ฉะนั้นนักปราชญ์ท่านจึงสอนให้ผู้สนใจในทางบุญกุศลบำเพ็ญตนด้วยกาย วาจา ใจ เพื่อความดีซึ่งจะเกิดจากผลงานต่าง ๆ และเป็นทางดีอย่างเดียวกัน
                        คำว่า ธรรมอยู่ที่ใจ หรือว่า ธรรมคือใจ นั้น ท่านกล่าวถึงธรรมส่วนผลซึ่งเกิดจากการค้นพบของบัณฑิต ธรรมส่วนเหตุต้องมีการขวนขวาย ต้องมีนอกมีใน มีไกลมีใกล้เป็นธรรมดา หรือมีหยาบมีละเอียด เป็นต้น  แม้แต่เหล็กหรือแร่ธาตุต่าง ๆ กว่าจะรวมกันเป็นแท่งขึ้นได้ เหล็กหรือแร่ธาตุบางอย่างต้องแสวงหามาจากชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นสำคัญ ธรรม กว่าจะรวมเป็นแท่งธรรมอันเดียวคือใจได้ ก็ต้องค้นคว้ามาจากสภาวะต่าง ๆ ซึ่งเหลือที่จะคณานับ มาเป็นธรรมส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด เทียบได้ว่าแก่นธรรมคือใจ ดวงใจคือดวงธรรมเช่นเดียวกัน
                   การถือศาสนา ศาสนาเป็นธรรมชาติที่เต็มไปด้วยเหตุผล ผู้ถือศาสนาพึงใคร่ครวญเหตุผลเป็นสำคัญกว่าการปฏิบัติไปเลยโดยปราศจากเหตุผล ไม่เช่นนั้นจะเป็นเถรส่องบาตร หรือกระต่ายตื่นตูม ตามนิทานมีว่า กระต่ายนอนหลับอยู่ใต้ต้นลาน ขณะนั้นมีลมพัด มะตูมถูกลมพัดได้หล่นลงถูกก้านลาน แล้วตกลงใกล้ชิดกระต่าย ซึ่งกำลังนอนหลับอย่างสนิท ตื่นขึ้นทั้งหลับยังมิทันคิดว่าอะไร เข้าใจว่าฟ้าถล่มก็กระโดดวิ่งหนีเต็มกำลังเพราะกลัวตาย ไปพบสัตว์ต่าง ๆ ตามเส้นทางที่วิ่งไป  เมื่อถูกสัตว์ต่าง ๆ ถามก็พูดได้คำเดียวว่า ฟ้าถล่มสัตว์เหล่านั้นก็สำคัญเป็นความจริงก็วิ่งตามกระต่ายไป ฟ้าถล่มครั้งนั้น สัตว์ได้รับอันตรายและถึงแก่ความตายก็มีจำนวนมาก จนไปถึงพระยาราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดก็สั่งให้หยุดเพื่อรู้ความเท็จจริง ส่วนกระต่ายทั้งวิ่งทั้งตะโกนบอกว่า ฟ้าถล่ม ๆเมื่อถูกราชสีห์ขู่ขวัญให้หยุด กระต่ายจึงหยุด แล้วไต่ถามได้ความว่า ฟ้าถล่มและทำท่าจะวิ่งต่อไปอีก ได้ถูกราชสีห์บังคับให้หยุดและให้พาไปดูตรงที่ฟ้าถล่ม เมื่อถึงแล้วก็เห็นแต่มะตูมหล่นตกอยู่ใต้ต้นลาน ไม่มีอะไรแปลกต่าง  เมื่อราชสีห์ชันสูตรดูรู้ความเท็จจริงว่า มะตูมถูกลมพัดหล่นลงถูกก้านลาน มิใช่ฟ้าถล่มตามคำกล่าวหาของกระต่าย ก็สั่งสอนกระต่ายให้ตระหนักในเหตุผล คำว่ากระต่ายกับสัตว์ทั้งหลายผู้หลงตามกันโดยมิได้มีเหตุผล และพระยาราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดในเหตุผล น้อมเข้ามาในพุทธศาสนากับการปฏิบัติคงจะเป็นคติอันดีไม่น้อย เพราะเกี่ยวกับเหตุผลไปในตัวเสร็จ

                               การถือธรรมทั้งดุ้นอาจกลายเป็นขรัวตาโค้ง

          ยิ่งทางพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาต้องการเหตุผลด้วยแล้ว เพียงแต่ได้ยินคัมภีร์กล่าวไว้ว่าธรรมมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ บางแห่งว่ามีเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา และบางแห่งว่าพระธรรมมีอันเดียวคือใจเท่านั้นก็หมดศรัทธาไปตาม ๆ กัน หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นทำนองขรัวตาโค้ง ซึ่งถูกนิมนต์ไปฉัน ณ ที่ต่าง ๆ ในวันและเวลาเดียวกัน เมื่อรับนิมนต์และได้เวลาแล้ว ขรัวตาก็เตรียมตัว เตรียมบาตร ๑ ใบ ย่าม ๓ ย่าม ปิ่นโต ๒ เถา ล้วนแล้วแต่ใบเบ้อเร่อ สำหรับใส่อาหารและจิปาถะในงานเขาทำบุญ ออกเดินทาง จังหันยังไม่ได้ฉัน เพราะเตรียมการรับงาน แม้ใครจะนำอาหารมาถวายก็โบกมือว่าไม่ฉัน เพราะได้ตั้งเลขบวกคูณไว้ในใจแล้วว่า กว่าจะเสร็จทั้งสองงานนี้หลวงพ่อคงเอาเต็มที่กับอะไรต่อมิอะไรซึ่งเขาเตรียมรอรับไว้อย่างเต็มที่ ตั้งเรียงรายทั้งสองงาน
พอขรัวตาโค้งไปถึงตรงหนทางสองแพร่ง ก็เกิดลังเลในใจว่าจะตัดสินใจไปงานไหนก่อนให้รู้แล้วรู้รอดไป ก็ยืนถ่างขาทั้งสอง เหยียบยันเส้นทางทั้งสองแพร่งที่จะไปบ้านงานแต่ละงาน มือจับสายย่าม ถามว่า ย่ามคู่ชีวิตของเราเอ๋ย  ช่วยเราบ้างซิ ทั้งสองบ้านสองงานนี้ บ้านไหนงานไหนเล่าจะพอบรรจุ….. เสมอปากย่ามทั้งสามใบกับปิ่นโตสองเถา ซึ่งเราสะพายและจับถามอยู่เวลานี้ ก็ไม่ได้รับตอบจากย่ามแม้แต่ใบเดียวคำเดียว ทั้งสายบาตรที่สะพายอยู่บนบ่าก็มิได้วาง จะไปทางไหนก็ตัดสินใจลงไม่ได้ กลัวจะไม่เหมาะสมกับที่รับงานไว้มาก ระหว่างขรัวตาโค้งกับย่ามกำลังเกิดอธิกรณ์กันอยู่ เวลาได้ผ่านไปจวนเที่ยงวันยังไม่ตัดสินกันลงได้ สักประเดี๋ยวใจก็ได้ยินเสียงกลองให้สัญญาณตีเพลทั้งสองบ้านสองงาน กว่าจะไปถึงก็ต้องเลยเวลา ขรัวตาโค้งก็เสียใจมาก ทั้งหิวข้าว ทั้งจังหันก็ยังไม่ได้ฉัน ทั้งสองบ้านสองงานที่เขานิมนต์ก็เลยเวลา จึงโซเซเข้าไปนอนผ่อนกายชราอยู่ข้างทางพร่ำบ่นพึมพำว่า เราไปงานไหนก่อนก็คงตกอยู่ในเงื้อมมือเราแน่ ทั้งไม่ขาดทุนสูญกำลังไปเปล่า ๆ  อย่างนี้อ้ายย่าม ๓ ย่าม บาตร ๑ ใบ ปิ่นโต ๒ เถา ซึ่งเคยเป็นคู่ชีวิตเรามาแต่วันบวช มาวันนี้เกิดขวางไปหมดแล้ว ออกเดินทางไปวัดด้วยความอ่อนใจ
พอถึงหน้าวัด ลูกศิษย์หลายคนดีใจเห็นหลวงพ่อของเขาค่อยเดินงุ่มง่ามต้วมเตี้ยมมา นึกว่าเอาการกับขนมเต็มที่ ศิษย์ยิ่งยินดีวิ่งแซงหน้ากันออกต้อนรับหลวงพ่อ พอจวนถึงท่าน ท่านทำหน้าเคร่งขรึม พร้อมทั้งโบกมือว่า รีบเอาบาตรปิ่นโตและย่ามเหล่านี้ไปทิ้งลงส้วมให้หมด ขืนเอาไว้ต่อไปวัดจะร้าง หลวงตาจะตาย จะเกิดฉิบหายป่นปี้ ทั้งนี้เป็นเพราะ โลภนักมักลาภหาย ความเข้าใจผิดเกิดจากหลวงตาผู้เดียว แต่กลับโยนความผิดไปให้บาตร ย่าม และปิ่นโตเป็นผู้รับเคราะห์ร้ายแทน ตามเรื่องนิทานนี้จะเห็นได้ว่า การเรียนธรรมมากมายแต่ปราศจากเหตุผล และความหมายของธรรม ย่อมลำบาก เดี๋ยวไปคว้าเอาพระสูตร ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มาตรวจค้น และปฏิบัติดูบ้างเห็นว่าไม่ได้ผลก็ทิ้ง แล้วไปคว้าเอาพระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาตรวจค้นและปฏิบัติดูบ้างเห็นว่าไม่ได้ผลก็ทิ้ง แล้วไปคว้าเอาพระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มาตรวจค้น และปฏิบัติดูบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เห็นว่าไม่ได้ผลก็ทิ้งไปโดยลำดับ ไม่ได้ประโยชน์จากธรรมซึ่งมีคุณภาพมากแม้แต่น้อย
นอกจากไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดลังเลสงสัยในธรรมไม่มีสิ้นสุด และอาจจะเข้าใจไปว่าเนื้อธรรมที่จะพึงได้รับไม่มี ศาสนธรรมสักแต่ประกาศสอนไว้ ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ก็จะเกิดความประมาทในธรรมว่าไม่เป็น นิยยานิกธรรม ไม่ยังผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากกองทุกข์ไปได้ มีความเห็นไปใหญ่โตว่ามรรคผลนิพพานไม่มี แม้ผู้จะปฏิบัติตามธรรมก็ลำบากเปล่า ๆ เรียนธรรม ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม โดยวิธีคว้าเอาธรรมหมดทั้งดุ้นเป็นการลำบากมาก ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งนี้จะตำหนิย่าม ๓ ย่าม ปิ่นโต ๒ เถา และบาตร ๑ ใบ หรือจะตำหนิขรัวตาโค้ง ถ้าเป็นขรัวตาโค้งแล้วจะต้องตำหนิย่ามเป็นต้น ถ้าเป็นเมธีชนจะตำหนิขรัวตาโค้ง เพราะท่านเข้าใจผิดเอง จึงให้เสียทั้งลาภ เสียทั้งงาน ทั้งย่าม ปิ่นโต และบาตรก็ถูกให้นำไปทิ้งลงในส้วมหมด ไม่เช่นนั้นจะเกิดเคราะห์ร้ายฉิบหายใหญ่หมดทั้งวัด ตลอดตัวของท่านเอง นี้ถ้าเพ่งถึงอรรถแล้ว เครื่องบริขารมีบาตรเป็นต้น เป็นเครื่องประดับสมณะให้งามในเพศนักบวชได้ทุกอย่าง ในบรรดาบริขารที่ถูกแช่ง และถูกให้นำไปทิ้งลงในสถานที่ไม่บังควร แต่กลับเป็นมหามงคลความเจริญรุ่งเรืองอย่างใหญ่หลวงแก่ขรัวตาโค้งเสียอีก ในเมื่อบริขารฉิบหายไปจากตัวหมดแล้ว ต่อไปไตรจีวรที่เป็นบริขารจำเป็นซึ่งครองประจำตัว ก็อาจจะเกิดเสนียดจัญไรขึ้นแก่ขรัวตา ก็จะถูกขว้างทิ้งไปหมด สุดที่แล้วสิ่งที่จะยังเหลือประจำตัวก็คือ ทองคำธรรมชาติ มงคลอันยิ่งใหญ่ที่ท่านจะได้รับครั้งสุดท้าย ก็คือถูกนิมนต์ไปงานสมเด็จเจ้าพระยา (ปากคลองสาน ธนบุรี) ให้รู้แล้วไปเสียที
ศาสนธรรมเป็นสมบัติประจำใจของท่านผู้เป็นพุทธเวไนยที่ดี การคว้าธรรมทั้งดุ้น แม้ธรรมจะเป็นเครื่องกำจัดกิเลสทุกประเภทก็จริง แต่ก็กำจัดกิเลสเป็นอย่าง ๆ ไปตามจริตนิสัยที่ถูกกับบทธรรมนั้น ๆ ท่านจึงกล่าวไว้ในจริต ๖ ซึ่งมีประจำใจของเวไนยสัตว์ มีศรัทธาจริต เป็นต้น พร้อมทั้งธรรมแก้จริตนั้นๆ เป็นอย่างๆ ไป มีอสุภกรรมฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อถือเอาประโยชน์จากธรรมของพระองค์ได้เท่าที่ควรแก่ข้อปฏิบัติ และจริตนิสัยของเวไนยทั่วไป
ถ้าจะปฏิบัติทำนองที่ว่า ขึ้นชื่อว่าธรรม ๆ แล้วต้องปฏิบัติ และถือเอาประโยชน์ให้ได้หมดก็ถูก ในฐานะที่จะควรเป็นไปได้ หากไม่เป็นฐานะแล้วก็จะเสียกำลังและเวลาไปเปล่า เท่ากับคนไข้ปวดศีรษะแต่นำยาที่เป็นปฏิกิริยาต่อกัน (ยาเป็นข้าศึกกัน) มาวางลงไป แทนที่คนป่วยจะหายจากโรค โรคกลับทวีรุนแรงมากขึ้นดังนี้เป็นต้น  แม้ธรรมซึ่งมีหน้าที่กำจัดกิเลส แต่ผู้ฉลาดก็ควรพิจารณาค้นดูสมุฏฐานของกิเลสว่า จะควรแก้ด้วยธรรมบทใดก่อน เช่น ผู้หนักในราคะจริต (หนักในกาม) เป็นต้น เราไม่พิจารณาว่าควรนำธรรมบทใดมาแก้ กลับไปคว้าสุภกรรมฐาน (ความงาม) มาเจริญ และเคล้าคลึงเพื่อให้รูปที่ตนรักชอบนั้นสวยงามเด่นขึ้น ไม่นานจิตก็จะแหวกแนวไปเลย ที่ถูกควรนำ อสุภกรรมฐาน มาแก้ โดยอาการเจริญคลี่คลาย ดูรูปที่เข้าใจว่าสวยงามนั้นให้เห็นทั้งภายนอกภายใน พิจารณาน้อมเข้าไปใน ไตรลักษณญาณ คือ  อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยปัญญาจนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดได้โดยลำดับ นับว่าได้ผลสมกับเหตุที่ทำถูกต้องตามธรรมเป็นเครื่องแก้ เมื่อปรากฏผลเห็นว่าถูกก็เร่งยา คือ ข้อปฏิบัติเข้าให้มาก ก็ยิ่งจะได้ผลเป็นทวีคูณ นี้แลธรรมเมื่อใช้ถูกทางก็เป็น นิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากความขัดข้อง ไปโดยลำดับ นับแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูงสุด

กิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันกัน

การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลเท่าที่ควร พึงทราบจริตนิสัยของตนก่อนว่าหนักไปในทางใด เพราะกิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันกัน เหมือนนายแพทย์ผู้ฉลาด ก่อนวางยาคนไข้ก็ตรวจดูสมุฏฐานพร้อมทั้งอาการของโรค แล้วค่อยวางยาให้ตรงกับสมุฏฐานของโรคฉะนั้น เช่น จริตหนักไปในทางเบียดเบียนโหดร้ายต่อผู้อื่น ควรเจริญเมตตาสงสารเพื่อเป็นเครื่องลบล้างกัน ความเบียดเบียนโหดร้ายเมื่อถูกอบรมด้วยธรรม คือความเมตตาแล้ว จะกำเริบรุนแรงไปไม่ได้ นับวันที่จะอ่อนโยนสงสารต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยกันโดยถ่ายเดียว
อนึ่ง สิ่งใดเป็นไปเพื่อความขัดขวางตัดรอนความดี และขัดขวางจิตใจไม่ให้ความสะดวกเพื่อประพฤติความดี เมื่ออนุโลมตามแล้วยิ่งกำเริบรังควานใหญ่ เหมือนคนไข้ชอบอาหารแสลงแก่โรค เมื่อรับประทานลงไปยิ่งยังโรคให้กำเริบรุนแรงฉะนั้น สิ่งนั้นเรียกว่า มาร  มารนี้ท่านจำแนกไว้มี ๕ คือ กิเลสมาร  ขันธมาร  มัจจุมาร  เทวปุตตมาร  และอภิสังขารมาร มารเหล่านี้ท่านก็ให้นามว่าธรรมเหมือนกัน แต่เป็นธรรมฝ่ายชั่ว และเป็นคู่แข่งขันกันกับธรรมฝ่ายดี ผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมฝ่ายดีจึงต้องรบกับศัตรูเหล่านี้ให้ได้ชัยชนะ

การปฏิบัติธรรมเพื่อชัยชนะกับศัตรูคู่แข่งขัน

ศาสนธรรมคือ ความดีเป็นเครื่องรับรองผู้ปฏิบัติดีอยู่ทุกขณะ ไม่อ้างกาลอ้างสมัยว่า ชาตินี้ ชาติหน้า เดือนนี้ ปีหน้า จึงจะให้ผลธรรม โดยให้ผลในลำดับเหตุ คือ การบำเพ็ญของผู้ปฏิบัติธรรม แต่จะน้อย มาก ต่ำ สูง ถือเหตุเป็นประมาณ เพราะผลเกิดจากเหตุ คุณธรรมที่เรียกว่า อภิธรรม ซึ่งมีประจำในศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า นับโดยมรรคมี ๔ คือ โสดาปัตติมรรค  สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค นับโดยผลก็มี ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล คุณธรรมทั้งนี้ถ้าเป็นสมบัติของธรรม เรียกว่า อริยธรรม ธรรมอันประเสริฐ ถ้าเป็นคุณสมบัติของผู้ได้บรรลุ เรียกว่า อริยบุคคล ผู้ประเสริฐ นับโดยลำดับคุณธรรมของผู้ได้บรรลุดังนี้ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล  ฯลฯ  พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล  นับโดยคู่มี ๔ โดยบุคคลมี ๘ คุณธรรมเหล่านี้มีประจำอยู่กับศาสนธรรมตลอดอนันตกาล  มิได้พรากจากศาสนธรรมไปแรมวันค้างคืนที่ไหน และไม่ได้ไปรอคอยผู้ปฏิบัติดี ซึ่งควรได้บรรลุคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในชั้นสวรรค์วิมานพรหมที่ไหนด้วย ผู้ปฏิบัติธรรมก็มีธรรมในใจ และอาศัยการปฏิบัติไม่ถอยหลัง ก็สามารถยังธรรมเหล่านี้ให้แจ่มแจ้งขึ้นในจิตใจได้ ในบทธรรมคุณมีอยู่ว่า สันทิฏฐิโก อกาลิโก ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่เลือกกาลเวลาเหมือนทำงานในศาล แต่พึงทราบบทธรรมให้ตรงตามความจริงของธรรมก่อน ความจริงแห่งธรรมทั้งนี้มีอยู่ว่า รู้เอง เห็นเอง ตามนัยแห่งธรรม มีอยู่ทุกเมื่อ  เมื่อเข้าใจความจริงของธรรมแล้ว การปฏิบัติก็พึงอนุโลมตามธรรม โดยปฏิบัติเองและไม่อ้างกาลเวลา ทุกอิริยาบถที่จะบำเพ็ญธรรมให้สมบูรณ์เท่าที่ธรรมจะพึงรู้ ณ ภายใน

ธรรมกับผู้ปฏิบัติธรรม

        ครั้งพุทธกาลกับสมัยทุกวันนี้ ศาสนธรรมกับผู้ควรปฏิบัติธรรมไม่แปลกต่างกัน คือ ธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลส ผู้ปฏิบัติธรรมก็เพื่อกำจัดกิเลสออกจากใจ  เมื่อผู้ปฏิบัติมีความหมายให้ตรงกับความจริงของธรรม ซึ่งมีหน้าที่กำจัดกิเลสแล้ว ด้วยเหตุเป็นเครื่องส่งถึงผลที่จะพึงบรรลุจากการปฏิบัติธรรมมีอยู่ คำว่าธรรมเป็นเครื่องแก้หรือกำจัดกิเลส ก็จะพึงแสดงความจริงให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุธรรมเป็นขั้น ๆ ตามกำลังแห่งข้อปฏิบัติที่ตนจะพึงบำเพ็ญได้ แต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด เรียกว่าผู้ปฏิบัติถูกตามความหมายของธรรม ย่อมมีสิทธิที่จะพึงได้รับผลตอบแทน คือ มรรคผลนิพพาน จากธรรมเท่าเทียมกันกับสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ไม่เช่นนั้น คำที่ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก ก็เป็นโมฆธรรมเท่านั้น เหมือนยาสำหรับแก้โรค ผู้เป็นโรคก็รับประทานยาเพื่อแก้โรคให้หาย ถ้าเป็นโรคฟังยา ไม่ใช่โรคฟืนโรคไฟ และโรคไม่มองดูหน้าหมอแล้ว ประกอบยาลงไป เมื่อถูกกับโรค โรคก็หายวันหายคืน ในที่สุดก็หายเป็นปกติได้  ถ้าเป็นโรคไม่ฟังยาแล้ว โรคชนิดนั้นก็จะกลายเป็นโลงเก็บศพไปเท่านั้น ทั้งโรคฟังยาและโรคไม่ฟังยาเคยมีมาประจำแผ่นดิน
ส่วนโรคประจำใจมนุษย์และสัตว์ คือ โรคกิเลส ก็แบ่งเป็น ๒ โรคเหมือนกัน คือ โรคฟังธรรมโอสถ กับโรคไม่ฟังอะไรทั้งนั้น โรคประเภทหลังนี้แม้พระพุทธเจ้าก็รักษาไม่หาย ไม่ต้องกล่าวถึงสมัยปัจจุบันนี้เลย ผลที่สุดต้องปล่อยให้นิรยบาลรักษาเอง โรคประเภทใดก็ตาม จะเป็นโรคโหดร้ายทารุณก็ตาม เมื่อปล่อยให้นายนิรยบาลรักษาแล้วได้การทั้งนั้น หมอนิรยบาลสำคัญอยู่มากจึงได้สมญาว่า จ่านรก
การกล่าวศาสนธรรมกับผู้ปฏิบัติ จะพึงได้รับผลตอบแทนอย่างงาม ๆ นั้นก็หมายถึงมนุษยธรรม เมื่อได้รับการอบรมจากธรรมและโรคก็จะพอเยียวยาหรือแก้ไขได้ด้วยธรรมโอสถ ทั้งเป็นโรคไม่รุนแรงซึ่งไม่พอจะปล่อยทิ้งให้เสื่อมเสียอุปนิสัยที่เคยสั่งสมมา จึงควรได้รับการอบรมให้ถูกทาง ก็จะเกิดความสว่างไสวไปเบื้องหน้าเท่าที่ควร ส่วนโรคไม่ฟังเสียงนั้น สมัยพุทธกาลกับสมัยนี้ผู้สั่งสอนก็ไร้ผลเท่าเทียมกัน จะไม่กล่าวถึง
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้ปรากฏผลประจักษ์ใจ และเป็น อยัมภทันตา ตามชั้นภูมิแห่งธรรม และอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ ควรมีหลักธรรมกำกับปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนินให้พอเหมาะกับอุปนิสัยของท่านที่สนใจในด้านการอบรมทางจิต
หลักธรรมมีมาก แต่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกเพื่อให้พิจารณาในครั้งนั้นมีดาษดื่น และเป็นคู่เคียงพระอุปัชฌาย์มาจนทุกวันนี้ ก็คือ ตจปัญจกกรรมฐาน  ปริยายออกไปก็ อสุภะ ๑๐  สติปัฏฐาน ๔ และ อานาปานสติ เป็นต้น  แต่พึงทราบว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงวางไว้มาก มีคุณภาพเท่าเทียมกันหมดในการแก้กิเลสตามประเภท ส่วนที่ปรากฏย่อ ๆ นี้ ก็เพื่อกันความฟั่นเฝือ และเห็นว่าพอดีกับจริตนิสัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปอยู่โดยมาก

การปฏิบัติดุจเป็นนายธรรม

                การปฏิบัติธรรม ถ้าทำอาการดุจจะทิ้งเสีย หรือทำดุจเราเป็นนายธรรม ทำธรรมให้เป็นดุจคนใช้เรา คือ ปฏิบัติธรรมโดยความไม่เต็มใจ สักแต่ว่าทำไปพอเป็นประเพณี ชอบทำตามความชอบใจ ไม่เคารพธรรม ศึกษาหรือสดับรู้ความหมายของธรรม แต่ไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ถือความอยากทำ อยากพูดและอยากคิดอยู่เหนือธรรม ไม่น้อมธรรมมาเป็นเครื่องบังคับตน แต่ตนชอบบังคับธรรม ธรรมมีความหมายให้ละชั่ว ทำดี เป็นต้น แต่ตนกลับละดี ทำชั่ว ไม่ตรงต่อความหมายของธรรม การทำความดีด้วย กาย วาจา ใจ แล้วแต่ขาพาไป ใจจะคิดอยากทำจึงจะทำ ไม่ยอมนำธรรม คือความสัตย์มากำกับใจ เหยียบย่ำธรรมโดยวิธีฝ่าฝืนไม่ทำตาม อาการทั้งนี้ เรียกว่า อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นดุจนายธรรม  ธรรมาธิปไตย ถือเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้ที่ปราศจากธรรมเป็นเครื่องกำกับย่อมผิดพลาดมากกว่าถูก คำว่าธรรมะก็คือองค์ของเหตุผลนั่นเอง ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรคำนึงถึงเหตุผล ไม่ควรทำตามอำเภอใจเป็นประมาณ เมื่อทำตนให้เป็นอัตตาธิปไตยแล้ว ก็ยากที่จะยัง ธรรมสมบัติ มาเป็นสมบัติส่วนตนได้

การปฏิบัติธรรมจาก อัตตาธิปไตย สู่  ธรรมาธิปไตย
       
เมื่อสิ่งแวดล้อมมีอยู่ ณ ภายในมากน้อยหยาบละเอียด ก็จะมีเรื่องเข้าข้างตัวเสมอเป็นธรรมดา ตามแต่สิ่งแวดล้อมซึ่งมีกำลังชักจูงให้เป็นไป ความนิยมทางศาสนาเรียกว่า กิเลส ผู้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ภายในใจมากก็เห็นแก่ตัวมาก มีน้อยก็เห็นแก่ตัวน้อย แต่ผู้มีมากอาจเป็นความกระเทือนเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดสัตว์มาก ผู้มีน้อยไม่พอเสียความงามในสังคม แต่สิ่งแวดล้อมพึงทราบว่าเป็นข้าศึกแก่ใจ สามารถกั้นกางความสุขส่วนใหญ่ไม่ให้เกิดมีขึ้น ณ ภายในใจได้ ฉะนั้นการปฏิบัติอบรมด้วยธรรมในด้านจิตตภาวนา จึงเป็นเหมือนยาแก้พิษสงอันวิเศษ

เบื้องต้นแห่งการอบรมใจ ซึ่งเรียกว่า ภาวนา

        บริกรรมภาวนาย่อมมีธรรมในบทใดบทหนึ่ง เป็นเครื่องกล่อมใจเพื่อหยั่งลงสู่ความสงบสุข ตามปกติจิตย่อมอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ จะมีการปรุงการคิดถึงอารมณ์อดีตอนาคตเสมอ ไม่อยู่เป็นปกติ ลักษณะที่จิตปรุงถึงอารมณ์เช่นนี้เรียกว่า ธรรมารมณ์
ฉะนั้น การที่จะให้จิตอยู่ด้วยความสงบ จึงหาธรรมบทใด ๆ ก็ได้ตามแต่จริตชอบมาเป็นเครื่องกล่อมใจ เรียกว่า บริกรรม การบริกรรมมิได้ออกเป็นคำพูดทำนองพูดกัน แต่ระลึกอยู่เฉพาะภายในจิต ถ้าเป็นบท ตโจ ก็ระลึกอยู่ภายในจิตว่า ตโจ ๆ ถ้าเป็นบท พุทโธ ก็บริกรรมว่า พุทโธ ๆ เป็นต้น จนกว่าจิตจะสงบ แต่ต้องทำโดยความมีสติสัมปชัญญะจริง ๆ ไม่เพียงแต่ว่าเฉย ๆ ทำนองว่าเล่น ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นบทอื่น ๆ ก็พึงระลึกบริกรรมทำนองเดียวกันนั้น บริกรรมภาวนานี้เป็นบุพภาคเบื้องต้นแห่งการเริ่มฝึกหัดภาวนา ตั้งใจทำเอาจริงเอาจัง จึงจะเห็นอานิสงส์ปรากฏขึ้นเฉพาะใจ แสดงขึ้นเป็นความสงบ มีอารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อยังไม่สงบสนิทก็ปรากฏอารมณ์เป็นสองกับคำบริกรรม เมื่อจิตหยั่งลงสู่ความสงบเต็มที่แล้วจะปล่อยวางคำบริกรรมก็ได้  เมื่อจิตถอนขึ้นมาก็บริกรรมต่อไป ส่วนอารมณ์ของกรรมฐาน คือบทธรรมที่จะนำมาบริกรรม แล้วแต่จริตชอบ จะเป็นลมหายใจก็ตาม ผมก็ตาม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ตาม หรืออาการ ๓๒ บทใดก็ตาม ได้ทั้งนั้น ข้อสำคัญอย่าคว้าธรรมทั้งดุ้นหลาย ๆ บทมาบริกรรมพร้อมกันในคราวเดียว จะกลายเป็นขรัวตาโค้งไปไม่รู้ตัว แต่เมื่อนำธรรมบทใดมาบริกรรม ได้รับผลคือความสงบแล้ว อย่าปล่อยวางไปคว้าบทอื่นมาบริกรรม จะกลายเป็นนิสัยจับจดไปอีก และจะเป็นนิสัยติดตัวจะไม่ได้อะไรเป็นผล จงบริกรรมเฉพาะบทนั้น ๆ ตลอดไป จนกว่าจะสมควรปล่อยวางได้
อนึ่ง เมื่อบริกรรมอยู่ จิตหดตัวมาสู่ความสงบแล้ว ไม่ควรรบกวนจิตด้วยอารมณ์แห่งกรรมฐานใดๆ และไม่ควรรบกวนจิตให้ถอนขึ้นมาเอาเฉยๆ แม้จิตจะพักสงบอยู่กี่ชั่วโมงก็พึงปล่อยไว้อย่างนั้น ให้ถอนขึ้นมาเอง อาการที่จิตหยั่งเข้าสู่ความสงบมีลักษณะต่างๆ กัน คือ รวมปั๊บเข้าทีเดียวบ้าง ค่อย ๆ เข้าโดยลำดับบ้าง แต่เมื่อลงถึงที่แล้ว เป็นความสงบมีอารมณ์เป็นหนึ่งเหมือนกัน
ในอาการ ๓๒ อาการใดอาการหนึ่ง เมื่อผู้นำไปใช้เป็นคำบริกรรมมีปรากฏเห็นอาการนั้นๆ ด้วย ทั้งจิตกำลังบริกรรมของบทนั้นๆ อยู่ เมื่อเห็นอาการนั้นๆ ด้วยเช่นนี้ จิตจะสงบได้เร็ว และจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ที่ไม่เห็นอย่าพึงเสียใจ จะพึงหยั่งเข้าสู่ความสงบเหมือนกัน เมื่อบริกรรมไม่ขาดระยะจิตจะพึงสงบได้เร็ว และจะเป็นจิตเชื่องต่ออารมณ์ที่เป็นข้าศึกไปโดยลำดับ และนับวันจะเป็นสมาธิมีความแน่วแน่ประจำใจ มีความผ่องใสละเอียดโดยลำดับ
เมื่อปรากฏว่าจิตหยั่งลงสู่ความสงบมีอารมณ์เดียวตามใจหวังด้วย เมื่อถอนออกมาจากความสงบแล้ว แม้จะมีการคิดนึกตามธรรมดาของจิต แต่ก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย และเชื่องต่ออารมณ์ด้วย ทั้งเป็นไปในความสงบทุกอิริยาบถด้วย กำหนดเวลาใดมีจุดผู้รู้เป็นความสงบสบายอยู่โดยเฉพาะด้วย ต่อจากลำดับนี้ไป เราจะบริกรรมเพื่อความรื่นเริงของจิตในขณะจะหลับนอนก็ได้ หรือจะพึงปล่อยวางเสีย เหลือแต่ผู้รู้อันสงบนั้นก็ได้ แต่พึงสังเกตจิตที่สงบในขณะจิตรวมลงพัก กับจิตสงบในเวลาถอนขึ้นมาแล้วเป็นจิตธรรมดา ต่างกัน จิตสงบในขณะรวมพักอยู่ไม่คิดปรุงอะไร จิตสงบธรรมดามีความคิดนึกปรุงแต่งเป็นธรรมดา แต่ไม่วุ่นวายกับอารมณ์ใด ๆ นี้เรียกว่า จิตสงบเหมือนกัน



สมาธิเป็นบาทแห่งวิปัสสนา

        เมื่อจิตมีความสงบเป็นอารมณ์สืบต่อกันโดยลำดับ เรียกว่า จิตมีความตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิตเรียกว่า สมาธิ แต่จะเป็นสมาธิประเภทใดนั้น แล้วแต่ความสงบของจิตเป็นประมาณ สมาธิทั้งสาม คือ  ขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ในสมาธิทั้งสามนี้เป็นบทบาทแห่งวิปัสสนา ได้ตามขั้นแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด เหมือนกันกับสมาธิ จิตรวมได้ชั่วครู่ชั่วขณะเรียกว่า ขณิกสมาธิ  รวมได้นานกว่านั้นเรียกว่าอุปจารสมาธิ รวมได้อย่างละเอียดแนบแน่นและอยู่ได้นานๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ การพิจารณารูปกายซึ่งเป็นส่วนหยาบยังไม่ชำนาญ ได้บ้างเสียบ้าง จัดเป็น ปัญญา หรือ วิปัสสนาขั้นหยาบ การพิจารณากายส่วนหยาบด้วยปัญญาปานกลางโดยวิธีทำเป็น ปฏิภาค แยกขยายส่วนแห่งกายได้ตามต้องการทุกเวลาและรวดเร็ว จนเกิดความเบื่อหน่ายในรูปกายด้วยปัญญาพร้อมทั้งความรู้เท่ากายทุกส่วน ทั้งเป็นไปในทางอสุภะ คือความเห็นว่าไม่งามแห่งกาย ทั้งเป็นไปในทางสุภะ คือความงามแห่งกาย เพราะมาเห็นชัดด้วยปัญญาว่า ความเห็นว่ากายเป็นของงามก็ดี และความเห็นว่ากายเป็นของไม่งามก็ดี ทั้งสองนี้เป็นอาการของจิตเห็นรูปด้วยจักษุเป็นเหตุ แล้วปรุงขึ้นหลอกตนให้หลงรัก หลงชังไปตามเงาเจ้ามายา ความพิจารณาอย่างนี้เรียกว่า ปัญญาปานกลาง
การพิจารณานามธรรม ๔ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมด หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นโดยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแห่งขันธ์ ๔ นี้ แม้แต่อย่างเดียว ก็หยั่งทราบในความจริงของขันธ์อื่น ๆ ว่าเป็นลักษณะอย่างเดียวกัน สรุปความเห็นรวมลงใน ไตรลักษณญาณ อย่างชัดเจน พร้อมทั้งการพิจารณาจิต ซึ่งเป็นที่อาศัยของขันธ์เหล่านี้ ให้เห็นว่าขันธ์ทั้ง ๔ นี้ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พร้อมทั้งจิต ซึ่งเป็นรังไข่ของอวิชชา ตัณหา เป็นต้น ว่าเป็นความจริงแต่ละอย่าง ตั้งแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ตลอดถึงจิต ว่าเป็นสภาพแห่งความจริงเสมอกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโดยความจริง ตลอดหน้าที่การงานของขันธ์ และจิตว่าเป็นธรรม มิสิทธิ์เสมอกัน ไม่ยกยอใครว่าเป็นใหญ่กว่าใคร และไม่เหยียบย่ำใครว่าเป็นน้อยกว่าใคร เห็นเสมอภาคกันไปหมด ทั้งธรรมภายนอก ทั้งธรรมภายใน ทั้งใจผู้รู้ธรรมทั้งหลาย ผู้เป็นองค์ของธรรมทั้งหลายด้วย มรรค ๘ รวมลง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ดี อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ดี เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาเสมอกันหมด มิได้กดทุกข์สมุทัยลงเบื้องต่ำ และมิได้ยกยอนิโรธ มรรคขึ้นเบื้องบน เห็นเป็นความจริงตามหน้าที่ของอริยสัจเสมอกัน แม้ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นองค์ของมรรค ๘ แท้ ก็เห็นตามเป็นจริงเสมอกันกับธรรมอื่น ๆ มิได้ติและชมในธรรมทั้งหลาย และมิได้ถือมั่นในธรรมทั้งปวง จะเป็นธรรมฝ่ายเหตุแห่งทุกข์ก็ดี ธรรมฝ่ายเหตุแห่งสุขก็ดี พร้อมทั้งไม่ถือมั่นในจิตด้วย นี้แลเรียกว่า วิปัสสนาอันละเอียด

วิปัสสนา หรือปัญญาทั้งสามมีความหยาบ ละเอียดต่างกันอย่างนี้

ย้อนกลับคืนกล่าวปฏิปทาการดำเนินจิตต่อไปอีก เมื่อจิตมีความสงบแล้ว ลำดับนี้ควรปล่อยวางคำบริกรรม เพราะเป็นขั้นกล่อมจิต เหมือนแม่กล่อมลูกด้วยบทเพลงต่าง ๆ เพื่อให้ทารกหยุดร้องไห้และนอนหลับ ตอนต้นจิตกำลังคะนองฟุ้งซ่าน ต้องกล่อมให้สงบด้วยบทบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วเป็นคราวจะฝึกหัดจิตให้ทำงานคือการค้นคิดด้วยปัญญา เหมือนแม่สั่งสอนลูกในเวลาโตพอทำงานช่วยให้เบามือได้แล้ว ก็สั่งให้ทำงานหารายได้เท่าที่ลูกจะสามารถ ฉะนั้นในขั้นนี้ เมื่อจิตสงบแล้วก็ปรากฏเป็นความสุขชนิดหนึ่งซึ่งมีประจำใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านวุ่นวายในอารมณ์ภายนอก มีความสุขเป็นอารมณ์ เมื่อจิตมาประสบความสุขชนิดนี้เป็นอารมณ์แล้วจะเพลินติดสุข ไม่อยากจะออกค้นคว้าพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา เพื่อความปลดเปลื้องตนต่อไป ด้วยมาสำคัญใจว่าตนได้รับความสุขสมประสงค์แล้ว เพลินแต่จะเพ่งผู้รู้อันสงบสุขนั้นตลอดไป เลยไม่อยากเกี่ยวข้องขวนขวายหาทางอื่นนอกจากความสงบสุขนั้นเสีย ซึ่งเหมือนคนเข็ญใจ ไม่เคยมีเงินถึง ๑๐ บาท เมื่อไปรับจ้างเขาทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เงิน ๑๐ บาทมาถึงมือ เลยกำไว้ไม่ปล่อยวาง และไม่คิดหาหนทางที่จะได้เงินมาเพิ่มของที่มีอยู่แล้วให้มากมูน อาศัยการจับจ่ายฝ่ายเดียว ไม่กี่วันเงินก็หมดไปเท่านั้น ลักษณะของผู้เสวยสุขอยู่ในสมาธิอันสงบก็เช่นกัน แทนที่ความสงบนั้นจะควรเป็นบาทแห่งวิปัสสนา  ซึ่งจะไหลมาแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่ ก็เลยพลอยให้เสื่อมเสียทั้งทุน คือความสงบที่มีอยู่แล้ว ทั้งกำไรคือบรมสุขอันจะพึงได้จากวิปัสสนา
ฉะนั้น เพื่อการสั่งสมความสุขอันมีประมาณน้อย เพื่อเป็นต้นทุนแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่ จึงไม่ควรเพลิดเพลินในความสงบของจิตจนเกินไป เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบ ท่านเรียกว่า จิตติดสมาธิ จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม ที่ถูก เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว ต้องฝึกซ้อมปัญญาโดยอุบายต่างๆ เพื่อให้จิตได้อุบายแก้กิเลส ซึ่งนอนเนื่องอยู่ภายในเป็นลำดับไป เพราะการกำจัดกิเลสทุกประเภทให้ขาดกระเด็นออกจากใจโดยสิ้นเชิงนั้น จะพึงกำจัดได้ด้วย ปัญญาเท่านั้น ส่วนศีลและสมาธิ เป็นแต่เพียงธรรมเครื่องขู่ขวัญกิเลส อย่างหยาบ และอย่างกลางให้ย่อตัวลงเป็นความสงบเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อไม่มีอาวุธนำสมัย คือ ปัญญา เครื่องประหารแล้ว กิเลสก็จะโงหัวขึ้นมาอีกและแผ่พังพานเต็มที่ คราวนี้ต้องกลับยอมแพ้เป็นทาสเขาอีกตลอดกาล
อนึ่ง ปฏิปทาเครื่องดำเนินจิตจะเพลินแต่ในคำบริกรรมอย่างเดียว เพราะเห็นว่าจิตสงบด้วยคำบริกรรมเท่านั้นก็ไม่ถูก เมื่อสมควรจะปล่อยวางได้ แต่จะถือไว้แบบแกะมือไม่ออกก็แย่ จะเพลินติดแต่ความสงบอันเกิดจากสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ถูก จะเพลินในการค้นคว้าพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายด้วยปัญญาอย่างเดียว เพราะเห็นว่าแก้กิเลสต้องแก้ด้วยปัญญาเท่านั้นก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน
ความจริงการบริกรรมภาวนาเป็นบุพภาคแห่งการดำเนินจิตเบื้องต้น เมื่อจิตก้าวเข้าสู่ความสงบ คือสมาธิแล้ว ถ้าควรจะปล่อยวางคำบริกรรมก็ได้ เพราะคำบริกรรมเปรียบเหมือนปลากินเบ็ด เมื่อจิตสงบได้แล้วอย่าพึงติดความสงบคือติดสมาธิ จะกลายเป็นทำนองว่า สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ปลาย่อมตายเพราะเหยื่อ (ปลาติดเบ็ดเพราะเหยื่อล่อ) และเมื่อพิจารณาในธรรมทั้งหลายก็อย่าให้เกินกว่าเหตุ ให้มีเวลาเข้าพักสงบได้บ้าง เพื่อเป็นกำลังหนุนปัญญา ให้คมกล้าควรแก่การตัดฟันกิเลสซึ่งเป็นเหมือนยางเหนียว เมื่อสมถะกับวิปัสสนา ดำเนินเป็นคู่เคียงกันไปโดยความสม่ำเสมอ ไม่ให้ยิ่งหย่อนข้างใดข้างหนึ่ง จะพึงถึงฝั่งแห่งสันติธรรมโดยปราศจากอุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้น พึงฝึกหัดจิตที่สงบนั้นให้ค้นคิดในเบญจขันธ์ คือกาย ตามธรรมดาของจิตต้องติดกายว่าสวยงาม จึงควรพิจารณากายให้เห็นเป็นของปฏิกูลโสโครก เปื่อยเน่า ผุพังแตกทำลาย จะเป็นกายของมนุษย์และสัตว์เหมือนกันหมด แยกส่วนแบ่งส่วนของกายออกเป็นชิ้นเป็นอัน กำหนดตั้งขึ้น-แตกไปโดยวิธีต่างๆ จนจิตชำนาญคล่องแคล่วแกล้วกล้าในการพิจารณากายได้ทุกส่วน และทุกเวลาที่ต้องการ จะกำหนดให้เล็กหรือใหญ่ แตกทำลายหรือตั้งขึ้น เป็นความแยบคายของปัญญาที่ฉลาดหาอุบายสอนจิต พึงทำอย่างนี้ทุกอิริยาบถไม่มีประมาณจนกว่าจะชำนาญ อย่าพึงเกียจคร้านในการค้นจิต เพราะขั้นต้นเปรียบเหมือนงานของเด็ก มาขั้นนี้เปรียบเหมือนงานของคนหนุ่ม ขั้นต่อไปจะเปรียบเหมือนงานของคนแก่ ซึ่งละเอียดและแยบคายกว่าสองขั้นต้นนี้ ขั้นนี้พึงพิจารณากายให้มาก จะเป็นกายนอกกายในได้ทั้งนั้น ให้ประสานกันไป เปรียบเหมือนงานนอกบ้านงานในบ้าน ได้ผลเท่ากัน การพิจารณาเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องตัด หรือแก้กิเลส สมาธิเปรียบเหมือนอาหารนอนท้อง
สมาธิมีหน้าที่เก็บและรักษาทรัพย์ที่ปัญญาหามาได้ ปัญญามีหน้าที่ขวนขวายหาทรัพย์ เมื่อปัญญาเพลินในรายได้ (คืออุบายต่าง ๆ จะพึงเกิดขึ้นเสมอในเวลาค้นคิด) ก็พึงยับยั้งจิตให้เข้าพักในเรือนคือสมาธิเสียบ้าง เพื่อว่าบำรุงกำลังใจให้แน่นหนา คือ มีความสงบมากขึ้น การเข้าพักจิตในเรือนคือสมาธิก็ดี การออกพิจารณากายหรือสภาวธรรมอื่นก็ดี จะพึงทำควบกันไป แต่มิใช่ทำในขณะเดียวกัน ต่างเวลากัน ข้อสำคัญที่ควรทราบคือ เมื่อปัญญาเพลินพิจารณาไม่ยับยั้ง ปัญญาก็ไม่เฉียบแหลม เหมือนมีดมีแต่ใช้ทำงานมิได้ลับหินก็ไม่คม ตัดอะไรก็ไม่ค่อยขาดเสียกำลัง เมื่อเข้าพักจิตให้ได้กำลังแล้ว ออกทำการค้นคิด หรือพิจารณาก็เฉียบขาดและคล่องแคล่วดี ถ้าจะให้พักจิตโดยถ่ายเดียวไม่เกี่ยวกับปัญญา ก็จะกลายเป็นจิตเกียจคร้านไม่ทำงาน ก็ขาดรายได้คืออุบายแก้จิต และก็จะติดในสมาธิความสงบไปเสีย ฉะนั้นจึงต้องมีทั้งการพิจารณามีทั้งการพักจิตประสานกันไป
การพิจารณากายกับอาการของจิต คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พร้อมทั้งจิต ๓ อย่างประสานกันไป จะเป็นความรอบคอบดีไม่น้อย ไม่เช่นนั้นจะเพลินหลงในอาการของจิตก็จะเป็นบ่อเกิดแห่ง อัตตานุทิฏฐิ ความเห็นว่าอาการของจิตที่คิดนึกอยู่ภายในจิต พร้อมทั้งการถือจิต ซึ่งยังเป็นตัวอวิชชาอยู่ว่าเป็นตัวตนขึ้น ณ ภายในจิต จะเป็นพิษร้ายยิ่งกว่าเสือโคร่งตัวหนึ่ง จึงต้องพิจารณาอาการของจิตและจิตประสานกันกับกายพร้อมๆ กันไป เพื่อความชำนาญของปัญญา เมื่อปัญญาชำนาญแล้ว จิตจะไม่ค่อยพัก จะเพลินในการค้นเรื่อยไป ได้ยินเสียงร้องไห้ ความจนทุกข์ ก็จะน้อมเข้ามาเป็นทุกขสัจ มองเห็นความทุกข์ความจน ความวิโยคมาจากสัตว์และสังขาร ก็จะน้อมเข้ามาเป็นเครื่องสอนใจ มิได้ประมาทแม้แต่เวลาเดียว มีสติปัญญาเป็นธรรมจักรหมุนรอบโลก โดยความไตร่ตรอง  เพื่อให้เห็นทั้งคุณทั้งโทษซึ่งเป็นของมีปะปนกันอยู่ เหมือนรับประทานข้าวทั้งแกลบทั้งรำ
ฉะนั้น การพิจารณากายเราก็ดี กายคนอื่นก็ดี หรือสภาวธรรมความแปรปรวนทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ประจำสัตว์และสังขารก็ดี ในวันหนึ่งคืนหนึ่งจะได้สักกี่ครั้งกี่หนไม่มีประมาณ การพิจารณาจะกว้างแคบ มีจุดรวมลงสู่ไตรลักษณญาณ คือให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นอนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ  ความลำบาก อนตฺตา เป็นสมบัติกลางของธาตุเดิมจริง ๆ อย่าทำเป็นคร่าว ๆ เพียงสักแต่ว่าคาดคะเน และให้เป็นไปด้วยสติปัญญาทุกอิริยาบถเหมือนขั้นบริกรรม
เมื่อปัญญาได้เคลื่อนย้ายจากสถานีสมาธิแล้วจะนับวันเร่งเครื่อง คืออุบายต่าง ๆ ไหวตัวอยู่ตลอดเวลากับอารมณ์ที่มากระทบไม่มีระยะ ตอนนี้จะได้เห็นกิเลสพุ่งตัวขึ้นเต็มที่ ซึ่งแต่ก่อนมาไม่เคยปรากฏ แต่ในระยะตอนนี้จะได้เห็นเสนาศัตรูหมู่ปัจจามิตร ประหนึ่งยกมาเป็นกองร้อย กองพัน กองพล และกองผสม ทั้งนางสนมประจำวังหน้า (อนาคต) วังหลัง (อดีต) แห่ล้อมกันมาเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมือถืออาวุธ จะมาต่อยุทธ์กันระหว่างกายกับจิต พร้อมทั้งอาการของจิต ซึ่งเป็นสมรภูมิในสงคราม และขณะเดียวกันก็จะได้เห็นกำลังใจที่กล้าหาญ และกำลังสติปัญญา ความพากเพียร ตลอดความอดทนต่อข้าศึก คือกิเลสที่ยกพลมาปะทะ ทั้งจะได้เห็นอุบายของปัญญาอันแกล้วกล้าต่อสงคราม  คืออารมณ์เครื่องยั่วยวนใจให้ลุ่มหลง   เมื่อปลงตกด้วยปัญญาแล้วจะได้ชัยชนะไปเป็นพัก ๆ
ระยะการต่อสู้กับอารมณ์ทั้งหลาย ทั้งหยาบ ปานกลาง และละเอียด ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการพิจารณากายทุกส่วน และอาการของจิตมากอาการ พร้อมทั้งจิตเป็นไปอยู่ก็จะมีอาการทั้งวุ่นวาย ทั้งหวั่นไหว ทั้งเสียใจ ทั้งดีใจ และอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน จิตจะลืมสำนึกตัวในการพักผ่อน เพราะสิ่งแวดล้อมทั้งหลายซึ่งมีจำนวนมากเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันอาการดีกับชั่วเกิดขึ้นเป็นคู่แข่งขันกัน ทั้งนี้เรียกว่าสงครามธรรม เมื่อฝ่ายกิเลสมีกำลังมากกว่าก็กำเอาชัยชนะครองวัฏฏะ บังคับให้จิตซึ่งอยู่ใต้อำนาจของเขาให้เสวยวิบากกรรมต่อไป เมื่อฝ่ายธรรมมีกำลังมากกว่า ก็กำเอาชัยชนะหักกงกรรมวัฏฏ์ให้แตกสลายไปจากจิต ครองตำแหน่งธรรมมิกราชต่อไป
ตอนนี้กล่าวเลยปฏิปทาการเรียงลำดับจิตไปบ้าง อย่างไรจะชำนาญในการพิจารณาสภาวธรรมด้วยปัญญา เป็นหน้าที่ของเราแต่ผู้เดียว ไม่พึงส่งใจไปหมายพึ่งวันคืนปีเดือน และคนอื่นจะมาช่วยแก้กิเลสให้เรา พึงทำความมั่นใจไว้ว่า สงครามระหว่างกิเลสกับจิตเป็นสงครามล้างโลก ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์ใหญ่หลวง  เมื่อชนะแล้วเรียกว่าล้างโลกออกจากใจได้ จะหมดความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งเคยเป็นนิสัยของจิตผู้ลุ่มหลงต่ออารมณ์ที่มายั่วยวน
เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิได้แล้ว ผู้ใดขยันต่อการค้นคิดด้วยปัญญาไม่ท้อถอย ผู้นั้นจะแก้กิเลสออกจากจิตด้วยปัญญาได้เป็นลำดับ ไม่เนิ่นช้า แต่ผู้มาติดในสมาธิความสงบจะถอนตัวไม่ขึ้น และอาจจะเสื่อมไปได้ เพราะไม่มีอุบายปัญญาเป็นเครื่องแก้จิตให้เลื่อนระดับภูมิขึ้นไป เนื่องจากจ่ายไปเสมอ ไม่หาใหม่มาเพิ่ม การค้นคิดด้วยปัญญาจัดว่าหาทรัพย์มาเพิ่ม แต่การพักสงบในลำดับแห่งการพิจารณาได้กล่าวไว้ชัดแล้ว เป็นธรรมดาคนทำงานเมื่อเหนื่อยต้องพัก เมื่อจิตเห็นคุณหรือผลประโยชน์ในการค้นคิดแล้ว เรื่องของปัญญาจะพึงไหวตัวอยู่ตลอดเวลา ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะมีความรำพึงไตร่ตรองในสภาวธรรมเสมอทุกขณะที่มาสัมผัส ไม่ปล่อยวางให้ผ่านไปโดยมิได้ไตร่ตรอง คำว่า พิจารณาธรรม พึงทราบว่าพิจารณาอริยสัจ ๔ ได้แก่ พิจารณาทุกข์ สมุทัย ด้วยปัญญา จนแคล่วคล่องว่องไว มีไหวพริบทันกลมายาของกิเลส
อนึ่ง ปัญญาจะไหวตัวเบื้องต้นต้องอาศัยการให้ค้นคิด ซึ่งเป็นการฝึกหัดปัญญาขั้นหยาบ ต่อมาเห็นอานิสงส์แล้วก็ค้นคิดไปเอง จนเพลินไปในการพิจารณา เหมือนเศรษฐีเพลินในรายได้ ช่างดอกไม้เพลินในพวงมาลา ปัญญาที่ชำนาญในการค้นคิดแล้วไม่มีใครบังคับก็เป็นไปเอง จนสามารถค้นคิดประดิษฐ์ธรรมขึ้นจากธรรมชาติที่มีอยู่ น้อมเข้ามาเป็นอุบายแก้ใจได้เป็นลำดับ
อนึ่ง การฟังธรรมโดยธรรมชาติ ผู้ปฏิบัติใช้ปัญญาด้วยดีแล้ว จะได้ฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอน ซึ่งประกาศกึกก้องกังวานไปทั่วสากลพิภพไม่มีเวลาจบสิ้น ทั้งภายนอกกายนอกใจ ทั้งภายในกายในใจ พระธรรมคือ อริยสัจ ๔ มีอยู่ทั่วไปทุกทิศทุกทาง เบื้องบนเบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง พึงน้อมเข้าในกายในจิตของเรา จะปรากฏอริยสัจ ๔ มีอยู่นี้เต็มไปหมดทุกทิศทุกทางเหมือนกัน การที่จิตตั้งกล้องถ่ายภาพคือปัญญา หันหน้ากล้องเข้ามาในกายในจิต และหันหน้ากล้องออกสู่สภาวธรรมภายนอก ถ่ายภาพอยู่ทุกเวลา จะไม่เห็นภาพคืออริยสัจ ทั้งภายนอกภายใน ติดฟิล์มของกล้องคือปัญญา ชัดเจนอย่างไรเล่า ปัญญานี้แลเปรียบเหมือนกล้องถ่ายภาพอย่างเอกของพระพุทธเจ้าประจำพุทธศาสนา กล้องประเภทนี้ถ่ายหมดวันหมดคืนก็ได้ เพราะไม่รบกวนใคร
ผู้ต้องการภาพอริยสัจ ๔ ไปชมเพื่อแก้กลุ้ม ก็พึงศึกษา ปฏิบัติดูตามบ้านเรือน ตามสวน ตามป่ารก ร่มไม้ เรือนว่าง ในถ้ำ ในเขา ในวัด นอกวัด หรือในที่ไหน ๆ ก็ได้ทั้งนั้น แต่การถ่ายภาพประเภทนี้จะให้ติดดีแจ่มชัดแท้ พระองค์สอนให้ถ่ายในที่สงัด เพราะที่เช่นนั้นอากาศดี ภาพอริยสัจก็กระจ่าง มองเห็นทั้งสิวไฝ ตลอดทั้งภายในภายนอกตามที่อริยสัจปรากฏอยู่ และเวลาถ่ายติดแล้ว ไม่มีวันลบเลือนตลอดเวลา คงแจ่มชัดประจักษ์ใจตลอดกาล
เมื่อพิจารณา อริยสัจ ทั้ง ๔ นี้อยู่ ก็เป็นอันว่าพิจารณา กาย จิต พร้อมทั้งอาการของจิตไปด้วย เมื่อจิตเพลินเดินไป พึงนำบทธรรมนั้น ๆ บทใดก็ได้ มาบริกรรมเพื่อเป็นเครื่องกล่อมจิตให้พักรวม วางภารกิจที่ตนได้ประกอบมาเป็นเวลานาน และเพื่อรวมกำลังความสงบไว้เป็นทุนในการพิจารณาต่อไป จนกว่าจะพอแก่ความต้องการของจิตแล้วกาลใด กาลนั้นจิตจะพึงรู้เท่ากายหมด พร้อมด้วยอาการของจิตทุกส่วนด้วยจิตเอง เมื่อจิตรู้เท่ากายทุกส่วนแล้ว ก็จะพึงปล่อยวางในการพิจารณากายพร้อมด้วยความกังวลในการอยากรู้กายทุกส่วนอันเป็นปกตินิสัยของจิต ซึ่งเคยลุ่มหลงกายมาเป็นเวลาหลายกัปนับไม่ถ้วน ไม่ว่ากายจะเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่ากายจะเป็นสุภะ (ความงาม) ไม่ว่ากายจะเป็นอสุภะอสุภัง (ความไม่งาม) ทั้งนี้เพราะมารู้แจ้งด้วยปัญญาว่า ความเห็นว่ากายเป็นของงามก็ดี เห็นว่ากายเป็นของไม่งามก็ดี และเห็นว่ากายเป็นไตรลักษณ์ก็ดี ความเห็นทั้งนี้เป็นอาการของจิตเห็นรูปด้วยจักษุเป็นเหตุ แล้วปรุงขึ้นหลอกจิตให้หลงรักหลงชังไปตาม  (การให้นำบทธรรมมาบริกรรมในขั้นนี้นั้น เพียงชั่วคราว)

เหตุใดปล่อยวางกายจะไม่เป็นพุทธบริษัทปลอมหรือ?
       
อาหารเป็นยาสำคัญในชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทุกประเภทจะพึงบริโภค เว้นเสียไม่ได้ และเภสัชคือยาแก้โรคก็จัดเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์เหมือนกัน จำต้องแสวงหามารักษาในเมื่อเกิดโรค สิ่งทั้งนี้จำเป็นในเวลาธาตุขันธ์ต้องการ และเกิดโรคในกาย แต่ก็ไม่จำเป็นตลอดเวลา เช่น เวลารับประทานอิ่มแล้ว โรคหายแล้ว อย่างนี้ไม่จำเป็น แล้วแต่เหตุบังคับให้อาหารและยาเกิดเป็นของจำเป็นขึ้นมาก็แก้ไขไปตามควรแก่เหตุ ซึ่งเกิดขึ้นมากหรือน้อยในรายบุคคลและสัตว์ฉันใด ธรรมทั้งหลายที่นำมากล่าวเฉพาะบ้าง มากบ้าง และเฉพาะอย่างยิ่ง คืออารมณ์แห่งกรรมฐาน ก็เป็นโอสถสำคัญของจิตฉันนั้นเหมือนกัน แต่ก็จำเป็นในเวลาโรคจิตมีประเภทต่าง ๆ กัน ต้องการยาคือธรรมโอสถบทใดหมวดใด ซึ่งจะพอเหมาะกับโรคของผู้นั้น ๆ ธรรมหมวดนั้นบทนั้น ก็เกิดเป็นของจำเป็นขึ้นมา เมื่อโรคจิตเปลี่ยนสภาพไป ธรรมโอสถที่จะนำมารักษาก็เปลี่ยนไปตาม เปลี่ยนไปตามโรคจิตตามลำดับ จนกว่าโรคประจำจิต คือกิเลสจะหมดไปจากจิตเสียเมื่อใด ก็จะพึงหยุดในการรักษาด้วยธรรมโอสถเมื่อนั้น
การพิจารณากายให้เป็นอารมณ์แห่งจิต ก็เนื่องมาจากจิตหลงรักหลงชังในกาย และเป็นกังวลในการประคองรักษาด้วยความสงวนและรักสวยรักงามในกายจริงๆ มิใช่ทำไปด้วยความจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งนอกไปจากโรครักกาย
ฉะนั้น จึงต้องหาธรรมโอสถที่จะพอเหมาะแก่โรครักกายมาแก้กัน จนกว่าโรคประเภทนี้จะเปลี่ยนสภาพไป หรือหายจากโรคพรรค์นี้ ธรรมโอสถก็จะพึงเปลี่ยนไปตามจนกว่าจะได้หยุดการรักษาด้วยธรรมโอสถ อาการของจิตเมื่อได้รับอบรมจากธรรมแล้ว จะแปรสภาพสู่ความละเอียดเสมอไป อาการรักษาด้วยธรรมจะพึงเป็นไปในทำนองเดียวกัน (คำว่า เปลี่ยน ก็พึงทราบว่าวางหรือปล่อยของเดิม)
การรับประทานอาหารในเมื่อธาตุต้องการ และมีรสชาติเอร็ดอร่อยอยู่ อาหารยังจำเป็นตลอดไป เมื่ออิ่มแล้ว แม้อาหารในภาชนะจะคงยังรสชาติอยู่ก็ตาม แต่ผู้รับประทานอิ่มแล้ว ก็หยุดรับประทานทันที โดยไม่มีใครบังคับให้หยุด แม้จะบังคับตัวเอง หรือผู้อื่นบังคับก็รับอีกไม่ได้ เรียกว่า ความพอของธาตุซึ่งมีจากอาหาร การภาวนาในทางจิตก็พอเทียบเป็นมิตรกันได้ เพราะเป็นเรื่องเท่าเทียมเสมอกัน มิใช่จะปล่อยวางเอาดื้อๆ ต้องมีความพอเป็นเหตุบังคับให้รู้ในตัวเอง สมด้วยธรรมคุณบทว่า ปจฺจตฺตํ  รู้จำเพาะตนตามลำดับภูมิซึ่งมีประจำจิต
ลำดับต้น การภาวนามีบทธรรมเป็นเครื่องบริกรรมตามแต่จริตนิสัยชอบในบทธรรมบทใด ซึ่งมีจำนวนมาก เรียกว่า บริกรรมภาวนา ความมุ่งหมายก็เพื่อจะให้จิตได้รับความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต้องการทั่วโลก ลำดับที่ ๒ เมื่อจิตได้รับความสงบแล้ว ความสุขไม่มีเพียงเท่านี้ ยังจะมีเป็นลำดับ เทียบเป็นใจความว่า ความสุขเกิดจากผูกมัดกิเลสไว้ด้วยบริกรรม ๑ ความสุขเกิดจากเชือดเฉือนกิเลสทั้งเป็น ด้วยดาบคือปัญญา ๑ ความสุขเกิดจากเชือดเฉือนกิเลสให้ตายจากจิตด้วยดาบคือปัญญาญาณ ๑ เมื่อกิเลสซึ่งเปรียบเสมือนเสือโคร่งตายแล้วด้วยดาบคือปัญญาญาณ จึงจะมีความสุขอย่างสมบูรณ์
เมื่อจิตพิจารณาแยบคายในรูปด้วยปัญญา พร้อมทั้งความรู้เท่ารูปกายทุกส่วนแล้ว จิตจะพึงสนใจในนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมากเข้า คือพิจารณานามธรรมล้วน ๆ ตามที่ตนชอบ และสนใจที่จะถือเอาเป็นอารมณ์ในบรรดานามธรรมส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะนามธรรมเหล่านี้อาศัยจิตเกิดขึ้นโดยเฉพาะ จะพึงทราบได้ เช่น คนหรือสัตว์ตายแล้ว แม้อวัยวะจะยังเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ก็หาได้รู้สึกสุขทุกข์ หรือเย็นร้อนอะไรไม่ จะทำอะไรไม่มีการต้านทานขัดขวาง เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน แต่ธรรมดาสามัญเราจะพึงสำคัญว่า ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนี้ ว่าเป็นตนโดยปกตินิสัย แม้จะพึงพูดว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ใช่ตน แต่ก็คงจะยึดถือขันธ์เหล่านี้โดยไม่รู้สึกตัวอยู่ ณ ภายในจิต เพราะขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ นี้เป็นของละเอียดมาก ยากที่จะแยกออกจากจิตได้ด้วยสัญญาความคาดหมายเฉยๆ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ความเท็จจริงของขันธ์นั้น ๆ
เมื่อวิปัสสนาปัญญาทำการพิสูจน์อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งกลางวันกลางคืน โดยกำหนดความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปแห่งขันธ์นั้น ๆ อยู่ทุกขณะประสานกันกับจิต ซึ่งเป็นเจ้าตัวการใหญ่อย่างชุลมุนวุ่นวาย โดยกำหนดขันธ์ทั้ง ๕ นี้ให้เป็นที่ตั้งแห่งสมรภูมิไม่โยกย้ายไปไหน ก็จะคว้าเอาความเท็จจริงจากระหว่างขันธ์กับจิตขึ้นมาได้ด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่สังขาร และไม่ใช่วิญญาณ เป็นเพียงสมมุติไว้ตามอาการ ซึ่งเป็นกระแสของจิตแต่ละอย่างๆ เท่านั้น หาใช่สัตว์บุคคลที่ไหนไม่
เมื่อทราบความเท็จจริงระหว่างจิตกับขันธ์พร้อมด้วยสภาวธรรมทั้งปวง ได้ปรากฏขึ้นแล้วแก่ โยคาวจร เพียงขณะเดียวเท่านั้น ท่านก็หมดปัญหาในธรรมทั้งปวงแม้มีมาก เมื่อเข้าใจธรรมคืออะไรแล้ว จะลุ่มหลงในธรรมแม้มีมากได้อย่างไร เหมือนบุคคลรู้ว่าควายเป็นควาย รู้ว่ารถเป็นรถแล้ว จะลุ่มหลงขาควาย เขาควาย หูควาย หางควาย และเครื่องต่าง ๆ ของรถ ซึ่งเป็นอาการของมันไปทำไม
เมื่อพระโยคาวจรได้ดำเนินจิตจนหมดความสงสัยในโลกในธรรมแล้ว จะปฏิบัติเพื่อความรื่นเริงในธรรมทำนองที่ว่านักปราชญ์มีความยินดีในธรรม อยู่ด้วยธรรม แต่ไม่ติดธรรมแล้ว เพื่อความปฏิบัติพอดีระหว่างจิตกับขันธ์ แม้จะย้อนจิตกลับคืน พิจารณารูปธรรม นามธรรม คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือสภาวธรรมอื่นๆ กว้างแคบได้ตามต้องการ เพื่อเป็นวิหารธรรม ความผาสุกในทิฏฐธรรม ก็ไม่เห็นมีความขัดข้องที่ตรงไหน  ย่อมจะพิจารณาประสานกันไปได้หมด จะมีกฎเกณฑ์สำคัญอยู่ก็เวลากำลังมีการรบเพื่อแย่งชัยชนะกันระหว่างสงคราม ซึ่งกำลังเป็นไปอยู่เท่านั้น พ้นเขตสงครามแล้วก็ไปมาหาสู่กันได้ตามธรรมดาของสภาวธรรมกับจิต ซึ่งได้ผูกมิตรกันแล้วด้วย ยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทุกส่วน มิได้ถือธรรมทั้งนี้ว่าเป็นศัตรูคู่อริแม้แต่น้อย ส่วนจิตเองก็มิได้ถือว่าตนมีอำนาจราชศักดิ์สูงต่ำเหนือธรรมใด ๆ กลับเห็นไปเสียว่าจิตกับธรรมมีสภาพความจริงเสมอกัน
พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย เมื่อท่านบำเพ็ญทางใจให้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ความพอดีพองามที่ท่านจะพึงประพฤติต่อวิบากขันธ์ของท่าน ท่านก็ดำเนินไปตามปกติสามัญธรรมดา เช่น การบิณฑบาตมาเสวยหรือฉัน การยืน การเดิน การนั่ง การนอน หรือการประกอบกิจทุกอย่าง ก็คงดำเนินไปตามปกติธรรมดา แม้การบำเพ็ญทางใจก็มิได้ลดละ คงบำเพ็ญไปตามปกติ เพื่อความอยู่สบายใน ทิฏฐธรรม ปัจจุบันของท่านในวันหนึ่งๆ พอถึงกาลแห่งอายุขัย แต่ท่านก็มิได้มุ่งไปเพื่อความแตกดับแห่งสังขาร ความเป็นอยู่หรือความจะแตกไปแห่งขันธ์ ท่านมอบไว้กับคติธรรมดาของสภาวธรรมทุกอย่าง ซึ่งจะหนีจากความเป็นอย่างนั้นไม่พ้น มิได้ถือเป็นความหนักใจ เบาใจในการที่สภาวธรรมทั้งหลายทั้งภายนอกภายในจะแตกไปหรือจะตั้งอยู่  ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพุทธบริษัทที่ดีต่อพระพุทธเจ้า จะพึงเป็นผู้หนักในธรรม ซึ่งเรียกว่า ธรรมาธิปไตย

การปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร และได้อะไรจากธรรม

        พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าจะเทียบทางโลกแล้วสมบัติมีเต็มแผ่นดิน และสมบัตินั้นๆ ก็มิได้เป็นทาสเป็นนายของผู้ใด แล้วแต่ผู้สนใจในสมบัตินั้นๆ จะพึงหวังประโยชน์สำหรับตน แล้วขวนขวายหามาเป็นกรรมสิทธิ์และเป็นประโยชน์ในคราวจำเป็นหรือต้องการ สมบัตินั้น ๆ ก็จะพึงสนองความจำเป็นหรือความต้องการของบุคคลเท่าที่มีอยู่ และคุณภาพซึ่งมีประจำในสมบัตินั้นๆ ทั้งนี้สมบัตินั้นๆ มิได้เป็นทาสเป็นนายของผู้ใด พอที่จะรับใช้หรือให้บำเหน็จบำนาญแก่ผู้นั้น ๆ ธรรมก็มีลักษณะเหมือนกันเช่นนั้น ธรรมเป็นสมบัติประจำศาสนา ซึ่งไม่เป็นทาสเป็นนายของผู้ใด แล้วแต่ผู้สนใจในศาสนสมบัติจะพึงหวังประโยชน์สำหรับตน แล้วอุตส่าห์บำเพ็ญในทางความดี ด้วยกาย วาจา ใจ ก็จะพึงประสบความดีตามกำลังแห่งข้อปฏิบัติ ที่ตนพึงทำได้มากน้อย
ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า คุณธรรมที่ผู้บำเพ็ญพึงได้รับนั้นเป็นทาส เป็นนายของผู้ใดเหมือนกัน เพราะธรรมไม่ใช่เป็นผู้รับใช้หรือเป็นผู้ให้บำเหน็จบำนาญแก่ผู้นั้น ๆ ฉะนั้น การปฏิบัติจึงเพื่อความดีสำหรับตน ความดีที่จะเด่นขึ้นในตนได้ต้องอาศัยการบำรุงลำต้นเป็นสำคัญ เช่น ต้นไม้ที่มนุษย์ทั่วโลกปลูกขึ้นเพื่อหวังประโยชน์ ก็ต้องมีการบำรุงรักษาลำต้นไว้ด้วยดี มิให้อะไรกัดหรือทำลาย และยังมีรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ถากถางหญ้าหรือสิ่งที่จะแย่งอาหารและอากาศ ไม่มองดูแต่ดอกผลบนต้นโดยถ่ายเดียว โดยปราศจากการบำรุง
ลำต้นของธรรมที่จะให้คุณธรรมคือความดีเกิดขึ้นได้เด่นชัด ก็คือการรักษากาย วาจา ใจ เป็นสิ่งสำคัญ รวมความแล้วก็คือ ใจเป็นบ่อเกิดแห่งธรรมทั้งหลาย เมื่อใจซึ่งเป็นนายบริสุทธิ์ดีแล้ว กาย  วาจา ซึ่งเป็นบริวารของใจหรือเครื่องมือของใจก็ทำตาม การบำรุงใจด้วยธรรมซึ่งเป็นโอชารสที่ดีจึงจะมีความสุข และคำว่าธรรมๆ นั้นเป็นความหมายกว้างขวาง จะอธิบายพอเป็นคร่าวๆ ตามความมีอยู่ของธรรม และลักษณะของธรรมที่ปรากฏแก่ความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไป

พระธรรมประกาศความจริงอยู่ตลอดเวลา และมีอยู่ตลอดกาล
       
พระธรรมซึ่งเป็นเครื่องสัมผัสใจมีอยู่ตลอดเวลามิได้ขาดสูญไปไหน เมื่อใจได้รับการอบรมด้วยธรรมจนเชื่องชินแล้ว ใจจะได้รับสัมผัสคือความสำนึกจากธรรม ที่ประกาศความจริงอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถจะปรากฏชัดว่า ธรรมกับใจสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตลอดเวลาไม่มีว่างเว้น เหมือนน้ำซับน้ำซึม ซึ่งไหลอยู่ทั้งหน้าแล้งและหน้าฝนฉะนั้น
คำว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีความเกิดดับและตั้งอยู่ตามสภาพของตนตลอดเวลา อันจะพึงสัมผัสให้รู้ในทางใจ เรียกว่า ธรรม จะเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรมก็ตาม จะแสดงขึ้นจากภายนอกหรือจะแสดงออกจากภายในก็ตาม เรียกว่าธรรมทั้งนั้น  สิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับคือใจ ใจนี้ก็เรียกว่า ธรรม แต่เป็นธรรมพิเศษ เรียกว่าองค์แห่งธรรมทั้งหลาย เพราะธรรมทุกประเภทจะมีความหมายว่าดี ว่าชั่ว ว่าหยาบ และละเอียด เป็นต้น ต้องเกิดขึ้นที่ใจ และสัมผัสรับรู้ที่ใจ เมื่อไม่มีใจรับรู้และให้ความหมายตามคุณและโทษที่มีอยู่ในธรรมนั้นแล้ว ธรรมนั้นๆ จะเกิดความหมาย คือสมมุตินิยมขึ้นเองไม่ได้ แม้ธรรมจะมีอยู่ทั่วไปก็ไร้ค่า ไม่มีผล การจะถือเอาประโยชน์จากธรรมนั้นๆ ได้ ธรรมนั้นๆ ต้องอาศัยสัมผัสรับรู้ที่ใจ เหมือนเพชรพลอยและแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน หากไม่มีใครรับรู้และสมมุตินิยมนำมาใช้ประโยชน์แล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ไร้ความหมายและไม่มีคุณค่าอะไร ที่สิ่งเหล่านั้นจะมีความหมายและมีคุณค่าตามคุณภาพเท่าที่ควร ก็อาศัยมีผู้สัมผัสรับรู้และสมมุตินิยม แล้วนำมาทำประโยชน์ตามคุณค่าของมันเท่าที่ควรนั่นเอง
ฉะนั้นเพชรพลอยและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้น จึงมีดาษดื่น ทั้งปรากฏแก่สายตาโลกอย่างเด่นชัด จนเป็นข้าศึกแก่กระเป๋าเงินของผู้ต้องการ ยิ่งกว่ามหาโจรเสียอีก ทั้งนี้เพราะความหมายและคุณค่าย่อมเกิดจากผู้สนใจนั่นเอง ฉะนั้นธรรมจึงต้องอาศัยความหมายสมมุตินิยมจากใจ ซึ่งเป็นองค์ของธรรมแท้ แม้อริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็นอาการของใจ แสดงเหตุให้ใจเป็นผู้รับรู้เรื่องของตัว เพื่อจะได้เห็นโทษเห็นคุณในตัวเอง เมื่อใจได้เห็นโทษเห็นคุณในตัวเองแล้ว ใจจะได้เห็นอริยสัจ ๔ ว่าเป็นของจริงแต่ละอย่างๆ ด้วยปัญญาอันชอบ พร้อมทั้งเห็นใจตัวเองว่าเป็นของจริงแท้อย่างหนึ่งจากอริยสัจ ไม่ถือมั่นในอริยสัจทั้ง ๔ แต่อย่างหนึ่งอย่างใด พร้อมทั้งไม่ถือมั่นในจิตโดยประการทั้งปวงด้วย
การปฏิบัติธรรมก็เพื่อกำจัดกิเลสหรือสิ่งแวดล้อมของจิต สิ่งทั้งนี้มีประเภทต่างๆ ซึ่งเหลือที่จะพรรณนาชื่อ ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อของกิเลสทั้งหมด เพราะคำว่ากิเลสหรือบาปธรรมนี้ มีความหมายกว้างขวาง เหมือนอาหารซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายของมนุษย์และสัตว์ย่อมจะมีแปลกๆ และมีชื่อไม่ซ้ำกัน แต่ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากอาหารนั้นๆ ก็เพื่อบำรุงร่างกายให้มีกำลังและความสุขเท่าที่ธาตุต้องการ การปฏิบัติธรรมก็พึงเพ่งถึงความผิด ถูก ชั่ว ดี ในสิ่งที่จะพึงหลีกเว้นให้ห่างไกล และสิ่งที่จะควรบำเพ็ญให้เจริญในใจให้มากกว่าการเพ่งชื่อของกิเลส และบาปธรรม
ขอให้คิดดู เราเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ คงจะเคยประสบเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นหวาดเสียว น่าสยดสยอง น่าสลดสังเวช น่าเพลิดเพลิน และน่าดีใจ เสียใจ เป็นต้น เหตุการณ์ที่เราประสบทั้งนี้คงจำชื่อและเรื่องราวไม่ได้หมด และทั่วถึง แต่ความสำนึกและรู้สึกในเหตุการณ์นั้นว่าน่ารักน่าชัง เป็นต้น คงเป็นเรื่องประทับใจของเราได้ทุกอย่าง และทุกขณะที่ได้ประสบ ทั้งยังถือเอาความหมายจากเหตุการณ์นั้น ๆ มาปลุกประสาทของเราให้ไหวไปตามได้ ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้เรื่องนั้นเลยว่าอะไรและชื่อว่าอย่างไรด้วย
การปฏิบัติธรรมก็ไม่อาจจำชื่อของกิเลสได้หมดตลอด ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกหลานของกิเลสและบาปธรรมเหมือนกัน แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราแล้ว เราย่อมจะเกิดความรู้สึกสำนึก และถือเอาความหมายจากสิ่งเหล่านั้นมาปลุกประสาทให้ไหวตามได้ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้เลยว่าอะไรและชื่อว่าอย่างไรด้วย  อนึ่ง เด็กๆ และคนไม่สนใจในพุทธศาสนา และไม่สนใจในกิเลสและชื่อของกิเลสเลย และคนที่รู้จักชื่อของกิเลสได้ดีตลอด ปู่ ย่า ตา ยาย ของกิเลส แต่คนทั้งนี้ยังมีธรรมชาติที่เราเรียกว่ากิเลสอยู่ภายในใจของเขาเหมือนกัน จะถือเอาข้างไหนเป็นประมาณก็ไม่ได้
สิ่งที่จะยกมาเทียบอุปมา คือ มีต้นไม้เกิดอยู่ในที่กีดขวาง ไม่ได้รับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ  ต้องการโค่นทิ้งเสีย มีคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้รับความสะดวกจากต้นไม้นั้น ในคนเหล่านั้น ผู้รู้จักชื่อต้นไม้ก็มี ไม่รู้จักชื่อก็มี ในคนทั้งนี้ผู้รู้จักวิธีโค่นต้นไม้ก็มี ไม่รู้จักวิธีก็มี ความรู้หรือไม่รู้ทั้งนี้จะไม่สามารถยังต้นไม้นั้นให้ไหวตัวได้เลย คงตั้งโด่อยู่ตามปกติของตน เมื่อต้องการความสะดวกจากการกีดขวางของต้นไม้นั้นจริงๆ ในคนจำนวนมากนั้น คนรู้จักชื่อต้นไม้นั้นก็มี ไม่รู้จักชื่อก็มี ในคนทั้งนี้ ผู้รู้จักวิธีโค่นต้นไม้ก็มี ไม่รู้จักวิธีโค่นก็มีนั้น ผู้รู้จักวิธีโค่นนำขวานหรือเลื่อยมา แล้วโค่นหรือตัดต้นไม้นั้นด้วยทั้งกำลังกาย และกำลังปัญญาที่มีอยู่ ด้วยความเพียร และความอดทนไม่หยุดยั้ง คนทั้งนี้จะสามารถยังต้นไม้นั้นให้ล้มลง และนำออกจากที่กีดขวางได้ ทั้งจะยังความสะดวกมาสู่ตนและส่วนรวมได้ฉันใด แต่ผู้ที่ไม่รู้จักวิธีโค่นนั้นก็เหลือวิสัยที่จะยังต้นไม้ให้ไหวตัวได้ นอกจากจะศึกษาวิธีโค่น พร้อมทั้งนำมาใช้ ก็จะเป็นประโยชน์
กิเลสและบาปธรรมเป็นเครื่องกีดขวางใจของมนุษย์และสัตว์ มิให้บรรลุความเจริญได้ตามประสงค์ คนจำนวนมากต้องการแก้กิเลสและบาปธรรมออกจากใจ เพราะไม่ได้รับความสะดวก ในคนจำนวนมากนั้น คนที่รู้จักชื่อกิเลสและบาปธรรมก็มี ไม่รู้จักชื่อก็มี คนทั้งนี้ ผู้รู้จักวิธีแก้กิเลสและบาปธรรมก็มี ไม่รู้จักวิธีแก้ก็มี ความรู้หรือไม่รู้ทั้งนี้จะไม่สามารถยังกิเลสหรือบาปธรรมให้ไหวตัวได้เลย กิเลสและบาปธรรมนั้นๆ คงมีอยู่ในใจตามปกติของตน เมื่อต้องการความสะดวกจากการกีดขวางของกิเลสนั้นๆ แล้ว ในคนจำนวนมากนั้น คนที่รู้จักชื่อของกิเลสและบาปธรรมก็มี ไม่รู้จักชื่อก็มี
ในคนทั้งนี้ ผู้รู้จักวิธีแก้กิเลสและบาปธรรมก็มี ไม่รู้จักวิธีแก้ก็มี ผู้ที่รู้จักวิธีแก้กิเลสและบาปธรรมตามคำสอนของธรรมที่ชี้บอกไว้ ดำเนินข้อปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่หยุดยั้ง มีความเพียรและอดทน ต่อความลำบากซึ่งจะเกิดจากความเพียร ก็สามารถแก้กิเลสและบาปธรรมที่มีอยู่ ณ ภายในใจให้เบาบางไปโดยลำดับ  ผลที่สุดจนถึงวิมุตติพระนิพพานได้ด้วยกำลัง ศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งยังความสะดวกมาสู่ตนและส่วนรวมฉันนั้น ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักวิธีแก้กิเลสและไม่สนใจในการศึกษาวิธีแก้ ทั้งการดำเนินในข้อปฏิบัติแล้ว ก็เป็นเรื่องหมดวิสัยทั้งเป็น  (ทั้ง ๆ ยังมีชีวิตอยู่)
ฉะนั้นการจำชื่อของกิเลสและบาปธรรมจึงไม่เป็นของจำเป็นมากนัก เมื่อรู้จักวิธีแก้กิเลสตามคำสอนและลงมือปฏิบัติตาม ทั้งสามารถแก้กิเลสและบาปธรรมออกจากใจได้แล้ว ชื่อของกิเลสนั้นๆ ซึ่งเรายังจำได้อยู่หรือไม่ก็ตาม กิเลสนั้น ๆ ก็ไม่สามารถจะทำใจของเราให้หวั่นไหวไปตามได้ ความมุ่งประสงค์ของพระองค์ ซึ่งมีแก่เวไนยสัตว์โดยมาก ทรงมุ่งสั่งสอนในข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสมากกว่าการสอนให้จำชื่อของกิเลสนั้นๆ เราจะพึงเห็นได้ในหมวดธรรมทั่วไป ส่วนใหญ่ของกิเลส คือ ราคะ โมหะ เราคงจำได้ทุกคน
การกล่าวเรื่องกิเลสและชื่อของมันก็พอสมควร คราวนี้ย้อนกล่าวถึงธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลส ธรรมเครื่องแก้กิเลส ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ควรจำชื่อและวิธีปฏิบัติไว้ให้ดี เพราะเป็นธรรมส่วนใหญ่ กล่าวแยกจากกันเรียกว่า ศีลธรรม มีทั้งดีทั้งชั่ว รวมอยู่ในคำว่าศีลธรรมหมด และทรงคุณและโทษไว้ในตัวเสร็จ เหมือนอาหารอันเป็นคุณและโทษแก่ร่างกาย แม้จะไม่รู้ชื่ออาหารก็ตาม เมื่อรับประทานลงไปต้องปรากฏรสชาติแก่ชิวหาประสาทเสมอ ส่วนที่เป็นคุณก็สามารถส่งไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลังและความสุข ทั้งเป็นปัจจัยหนุนร่างกายให้เจริญเติบโตได้เท่ากันกับคนที่รู้จักชื่ออาหาร ส่วนที่เป็นโทษเมื่อรับลงไปก็สามารถจะทำลายร่างกายให้ได้รับความเจ็บปวดเดือดร้อน หรือถึงแก่ความตายเท่ากันกับคนรู้จักชื่ออาหารหรือไม่รู้ คุณที่ทำถูกกับโทษที่ทำผิดต่อศาสนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับรสอาหารฉะนั้น
การกล่าวธรรมในแง่ต่างๆ ในทัศนะของแต่ละท่านมีนัยต่างกัน ถ้าต่างท่านทั้งผู้แต่งและผู้อ่าน ต่างมีวิจัยธรรมกำกับใจอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นเป็นปัญหา ซึ่งพอที่จะเกิดการขัดแย้งกันขึ้นที่ตรงไหน คงได้ความในทำนอง ตาดีเห็นช้าง นักปราชญ์เห็นธรรม แม้จะกล่าวเรื่องช้างหรือเรื่องธรรมโดยปริยายต่างๆ กันมากมาย ก็ไม่เป็นการขัดใจของท่านที่เห็นช้างและเห็นธรรมด้วยกัน ข้อสำคัญที่อาจจะเกิดความขัดแย้งกันขึ้นได้ก็ทำนอง ตาบอดคลำช้าง ต่างคลำถูกอวัยวะต่าง ๆ ของช้างไม่ตรงกัน ต่างมีความเห็นไปตามความสำนึกของตนๆ เวลามาสนทนากัน เพื่อเอาความเท็จจริงในเรื่องคลำช้างแล้ว ความเห็นเลยไม่ลงกันได้ จนเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นในวงสังคมแห่งคนตาบอด ณ ใต้ร่มมะกอก
ขณะสงครามคนตาบอดเหล่านั้นกำลังเป็นไปอยู่ ก็เกิดมีลมพัดมา มะกอกถูกลมพัด ได้หล่นลงมาถูกศีรษะเจ้าตาบอดคนหนึ่ง ซึ่งกำลังทุ่มเทความรู้ตู้พระไตรปิฎกจากการคลำช้างต่อนักตาบอดด้วยกันอยู่ เลยมิทันคิดว่าอะไรเป็นอะไร ก็สำคัญใจอย่างเดียวว่าเจ้าตาบอดทั้งหลายถวายค้อนบูชาธรรมบนศีรษะ ก็เลยกำเริบตบต่อยทุบตีกันใหญ่ในวงตาบอดด้วยกันอย่างชุลมุนวุ่นวายไปพักใหญ่หนึ่ง กว่าจะลงเอยได้ว่าเรื่องมะกอกถูกลมพัดหล่นลงถูกศีรษะต่างหาก มิใช่กัณฑ์เทศน์กัณฑ์เถียงอะไร ก็เลยสายไปเสียแล้ว
เรื่องตาบอดถูกมะกอกยั่วโทสะให้เป็นสงครามกัน ก็เลยได้เรื่องเป็นนิทานต่อมาถึงสมัยนี้ เรื่องตาบอดคลำช้าง หากเป็นคนตาดีของเราแล้ว จะได้มีการถกเถียงกันที่ตรงไหน เพราะอวัยวะของช้างตัวหนึ่ง ใครๆ ก็ทราบกันทั่วโลก ไม่จำเป็นพอที่จะเดือดร้อนถึงมะกอกอยู่บนต้นให้หล่นลงมาตัดสิน นี้ก็เนื่องจากตาไม่เห็น ทั้งเป็นคนเจ้าทิฐิด้วยกัน อาศัยสัมผัสความถูกต้องช้างเพียงเล็กน้อยก็เกิดความสำคัญตน ผลที่สุดตาบอดเหล่านั้นเลยแตกสามัคคี หาทางดีต่อกันไม่ได้
การเรียนและปฏิบัติธรรมในครั้งพุทธกาลก็เคยมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน เนื่องจากภิกษุ ๕ รูปเป็นเหตุ เบื้องต้นของเหตุจะเกิดความสำคัญผิดลุกลามขึ้นก็คือ พระองค์สอนภิกษุทั้ง ๕ รูปนั้นให้สำรวมในอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พร้อมทั้งให้นำไปปฏิบัติคนละหน้าที่ไม่เหมือนกัน ในบรรดาภิกษุทั้ง ๕ องค์ที่รักษาทางตาก็ว่ายาก องค์ใดรักษาอายตนะอันใดก็ว่าเป็นของยาก ต่างองค์ก็ว่าของใครยากไม่ลงรอยกัน จนมีเรื่องเดือดร้อนถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตัดสินว่าเป็นของยากด้วยกันทั้งนั้น ภิกษุทั้ง ๕ รูปจึงลงรอยกันได้ ต่างก็ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ผลสุดท้ายก็ได้รับมรรคผลเป็นที่พอใจ
ผู้ที่ประพฤติธรรมเพื่อหวังความพ้นทุกข์จริง ๆ แม้จะมีการทะเลาะวิวาทกันบ้างด้วยความเห็นในทางดี ซึ่งยังไม่ลงรอยกันได้ ยังดีกว่าผู้ประพฤติชั่ว และชอบทะเลาะวิวาทด้วยความเห็นอันลามกของตน ซึ่งไม่ยอมลงรอยกับใคร

อุปนิสัยและสิ่งแทรกซึม

ธรรมชาติที่แทรกซึม หรือสิงอยู่ในใจมนุษย์และสัตว์ และพยุงน้ำใจให้เป็นไปในทางเจริญตามลำดับแห่งการบำรุง ซึ่งมนุษย์และสัตว์จะพึงบำเพ็ญให้เป็นไป ณ ภายในใจเสมอ นับแต่จำนวนน้อยถึงจำนวนมากที่สุด เรียกว่า อุปนิสัย อุปนิสัยนี้มนุษย์และสัตว์จะพึงได้จากการบำเพ็ญในทางดี ซึ่งเรียกว่าการบำเพ็ญธรรมบ้าง การบำเพ็ญกุศลธรรมบ้าง เป็นต้น เมื่อมนุษย์และสัตว์บำเพ็ญให้เป็นไปอยู่เสมอ ไม่ทอดทิ้งปล่อยวางแล้ว ธรรมชาติอันนี้ก็พร้อมที่จะเจริญขึ้น ณ ภายในใจ  ส่วนจะให้เสื่อมหรือเจริญขึ้นมากน้อยนั้น มันแล้วแต่ผู้บังคับเครื่องจะพึงเร่งเครื่องของตนตามวันและเวลาที่ต้องการ
จิตเป็นตัวนามธรรม ธรรมชาติคืออุปนิสัยก็เป็นนามธรรม ไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตาเนื้อหรือตากล้องเหมือนกัน แต่เป็นสิ่งที่อาศัยหรือแทรกซึมอยู่กับจิต ถ้าเป็นภาษาของแพทย์เรียกว่าฟักตัวอยู่ภายในจิต อุปนิสัยนี้ไม่เพียงอาศัยหรือแทรกซึมอยู่ในใจของมนุษย์และสัตว์เท่านั้น ยังเป็นเครื่องรบเร้าใจมนุษย์และสัตว์ให้มีความสงสารในหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายด้วย คอยพยุงผู้ตกทุกข์ลำบากให้เลื่อนฐานะจากความทรมานนั้นๆ เสมอ จะเห็นตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ กำลังเร่งสร้างพระบารมีอยู่ แม้จะทรงเสวยพระชาติเป็นสัตว์ ซึ่งจัดว่าเป็นฐานะที่ต่ำทราม ก็ยังรู้จักสงสารในหมู่สัตว์และบริวารของตน บางครั้งถึงกับยอมสละชีวิตเลือดเนื้อของพระองค์แทนเพื่อนสัตว์ด้วยกัน ที่เขาจะถึงวาระตายอยู่แล้ว ด้วยเหตุต่าง ๆ อันจะพึงมีแก่สัตว์ไม่เลือกกาลให้พ้นภัยไปได้ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมอันแก่กล้า ทั้งยังสามารถนำหมู่สัตว์ทั้งหลายให้พ้นภัยที่จะมาถึงเฉพาะหน้าไปได้อีกด้วย  เมื่อเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ ก็มีความสงสารในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ทรงเบียดเบียนและเอารัดเอาเปรียบแก่ผู้ใด แม้เป็นกษัตริย์ทรงมีศักดานุภาพมาก จะพึงปกครองแผ่นดินตามประเพณีของกษัตริย์ ก็ไม่ทรงใช้อำนาจในทางผิดธรรม ดังนี้เป็นตัวอย่าง
อุปนิสัยธรรมนี้ นอกจากจะรบเร้าน้ำใจให้มีความสงสารในหมู่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นเครื่องพยุงน้ำใจของมนุษย์และสัตว์ให้รักชอบในทางกุศลธรรมประจำสันดานอีกด้วย
แต่เนื่องจากจิตเป็นเจ้ามายาสอพลอเป็นเจ้าเรือน จึงเดี๋ยวรักสิ่งโน้นสิ่งนี้ เป็นเหตุให้จิตมีชู้คู่ครอง คืออารมณ์ทั้งหลาย ทั้งดีทั้งชั่วมาปะปนกัน ไม่สม่ำเสมอทั้งภายในใจ ทั้งกิริยา คือ ความทำของกาย วาจา ใจเองก็ไม่สม่ำเสมอ สิ่งเป็นเหตุให้ใจได้เสวยอารมณ์ต่าง ๆ ตลอดถึงภพชาติที่ใจจะพึงเข้าถึงก็ย่อมเป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ เหมือนเรือแล่นในคลื่นทะเลฉะนั้น แม้แต่ความเป็นต่างๆ ที่ใจจะพึงเสวยวิบากกรรมอันตกอยู่ในภพนั้นๆ ก็ตาม ส่วนอุปนิสัยที่แทรกซึมอยู่ภายในใจย่อมไม่สาบสูญ คงมีประจำสันดานไปตลอดภพนั้นๆ แต่จะแปรสภาพไปบ้างตามเหตุการณ์ของจิตซึ่งมีคู่ครองมาก เหมือนเนื้อผ้าที่ขาวบริสุทธิ์ตามสภาพของตน ได้รับความระคนจากสีที่มีชนิดต่างๆ จะปรากฏสีต่าง ๆ ไปตาม
ฉะนั้นการที่จะยังอุปนิสัยให้เจริญก้าวหน้าโดยลำดับไม่ให้เสื่อมทรามลงได้ นอกจากจะเร่งประกอบคุณงามความดีให้ยิ่งขึ้นจนชินใจแล้ว ไม่มีทางอื่นจะทำได้ อุปนิสัยนี้เมื่อยังอ่อนอยู่ ผู้หวังความแก่กล้าจะพึงช่วยพยุงอีกที ในเมื่อแก่กล้าแล้วจะค่อยเป็นไปเอง เหมือนสัตว์พาหนะที่เคยชินต่อภาระแล้ว เจ้าของเป็นแต่ขับขี่และให้สัญญาณในการหลบเลี้ยวตามเส้นทางที่ตนต้องการเท่านั้น ส่วนการแบกเข็นเป็นเรื่องของสัตว์ จะทำหน้าที่นำภาระไปเองฉะนั้น
ในธรรมบทกล่าวไว้ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ  พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เป็นต้น การที่จะรอคอยให้พระธรรมรักษาเราโดยที่เราไม่ได้รักษาธรรมนั้น ไม่ชอบด้วยเหตุผล ความจริงซึ่งเป็นเครื่องรับรองกันทั่วโลกและแดนธรรมแท้ เราต้องรักษาพระธรรมก่อน พระพุทธเจ้าผู้ทรงค้นพบพระธรรมก็ดี พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้รู้ธรรมตามพระองค์ก็ดี พระธรรมซึ่งมีความหมายเต็มไปด้วยเหตุผลก็ดี ทั้ง ๓ รัตนะนี้ล้วนแต่บ่งความหมายเต็มตัวแล้วว่า ทรงและรักษาพระธรรมมาก่อนทั้งนั้น อาการที่พระองค์ทรงทรมานโดยวิธีต่าง ๆ บางครั้งถึงกับสลบไปก็มี พระสาวกมีความหวังอันแก่กล้าในการตรัสรู้ธรรม บางองค์ถึงกับเสียจักษุก็มี บางองค์ฝ่าเท้าแตกก็มี ความเพียรอันแก่กล้าและได้รับความลำบากอย่างสาหัสทั้งนี้ ล้วนแล้วแต่ท่านประพฤติหรือรักษาธรรมมาก่อน แล้วผลอันสะท้อนกลับจึงปรากฏแก่โลกว่า เป็นสรณะของสัตว์ทั้งหลายมาถึงสมัยปัจจุบันนี้
หากว่าพระองค์ก็ดี พระธรรมก็ดี และพระสงฆ์ก็ดี มิได้วางรากฐานลึกด้วยความเพียรและเหตุผลถึงเพียงนี้แล้ว ต้นแก้วสารพัดนึกทั้ง ๓ พระองค์คงจะโค่นจมปฐพีไปนานแล้ว ท่านสาธุชนผู้สนใจในดอกผลแห่งต้นธรรมอันล้ำค่าคงไม่ได้ดื่มรสลิ้มธรรมแน่  ฉะนั้นการรักษาธรรม ซึ่งจะนำผลเป็นที่พึงใจมาสู่ตน เป็นหน้าที่ของสาธุชนผู้รักธรรมทั้งหลาย จะพึงบำเพ็ญให้เป็นตัวเหตุเสียก่อน ส่วนผลเป็นเรื่องจะพึงผลิขึ้นในลำดับแห่งเหตุ โดยปราศจากการขู่เข็ญหรือบังคับใด ๆ ทั้งหมด ตรงกับพุทธภาษิตว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เหมือนบ้านเรือน เป็นต้น สิ่งทั้งนี้จะพึงเกิดเองตามธรรมชาติของตนไม่ได้ ต้องอาศัยคนปลูกสร้างขึ้นเป็นตัวเหตุสำคัญ จะด้วยกำลังกายก็ตาม ด้วยกำลังทรัพย์ก็ตาม ด้วยกำลังสติปัญญาก็ตาม หรือจะด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม จนกว่าบ้านเรือนนั้นจะเป็นผลสำเร็จเรียบร้อยขึ้นมา ภาษานิยมทางโลกเรียกว่า ปลูกบ้านสร้างเรือน ภาษานิยมทางศาสนาเรียกว่า ประพฤติหรือรักษาธรรม แต่ก็รวมลงในคำว่ากระทำอันเดียวกัน บ้านเรือนนั้น ถ้าเราทำเสร็จแล้วก็จะพึงรักษาความปลอดภัยให้แก่เรา พร้อมทั้งทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ในบ้านเรือนมิให้เสียหาย นับว่าอำนวยประโยชน์ให้แก่เรามาก
ฉะนั้น การสร้างอุปนิสัยก็พึงทำโดยทำนองเขาสร้างบ้านเรือนอยู่ เพราะธรรมชาติอันนี้ในเมื่อได้รับการบำรุงเสมอก็จะพึงเจริญโดยรวดเร็ว เมื่อขาดจากการบำรุงก็จะเสื่อมทรามลงไปได้ เหมือนต้นข้าวในนา เมื่อได้รับการบำรุงจากเจ้าของก็นับวันเจริญ เมื่อขาดการบำรุงก็เหี่ยวแห้งไปฉะนั้น


การฟังเทศน์อัตโนมัติ คือ ธรรมชาติ

ได้เคยอธิบายแล้วว่า พระธรรมคือความจริง ประกาศตนตลอดเวลาไม่หยุดยั้ง คอยต้อนรับท่านผู้สนใจในธรรมอยู่ทุกสมัย ฉะนั้นการฟังเทศน์จากที่ต่าง ๆ ซึ่งพระหรือใคร ๆ เคยเทศน์ให้เราฟังบ่อยครั้ง บางคราวจนถึงนั่งสัปหงกจากการฟังธรรม ถึงอย่างนั้นก็ยังจำไม่ได้ การฟังทำนองนี้มักหลงลืมง่าย ดังนั้นต่อไปควรหัดฟังธรรมที่ประกาศอยู่ในกายในจิตของตนเสียบ้าง จะได้สนุกฟังทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทั้งจะได้ฟังพระธรรมกถึกคือนักเทศน์เอกด้วย ซึ่งขึ้นบนธรรมาสน์คือกายแลจิตแล้ว ใคร ๆ จะนิมนต์ให้ลงจากธรรมาสน์ คือกายและจิตก็ไม่ยอมฟังเสียง เทศน์แต่เรื่อง ทุกขสัจ สมุทัยสัจ วันยังค่ำคืนยังรุ่ง
ธรรมเทศนาของพระธรรมกถึกคือนักเทศน์เอกองค์นี้ ประกาศกังวานไปทั่วสรรพางค์กายและจิต ชี้แต่เรื่องของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่เป็นแก่นสารในร่างกายอย่างไม่ปิดบัง และชี้เรื่องสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ลงที่จิตเสมอ อย่างไม่ปิดบังเหมือนกัน จนกว่าจะจบคัมภีร์ คือกายแตกเสียเมื่อใด พระธรรมกถึกก็ลงจากธรรมาสน์ทันทีโดยไม่ให้ใครนิมนต์ลง พระธรรมกถึกองค์นี้ไม่ยอมรับได้รับเสีย และรับคำสรรเสริญนินทาจากใคร ทำงานตามหน้าที่ไม่ลำเอียง
พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านได้สดับธรรมจากพระธรรมกถึกองค์นี้ ซึ่งชี้บอกสัจจะของจริงอยู่ที่กายและจิตของท่าน โดยแยบคายด้วยปัญญา จึงปรากฏนามอันวิเศษขึ้นให้สัตว์โลกผู้มีตามีหูได้เห็นได้ฟังว่า พุทโธ บ้าง อรหันต์บ้าง วิสุทธิบุคคล ผู้หมดจดผ่องใสบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะท่านได้สดับธรรม ซึ่งประกาศอยู่ในกายและจิตด้วยความพินิจพิจารณานั้นเอง ส่วนการฟังจากท่านผู้อื่นแสดงเป็นบางครั้งบางคราว ท่านก็ฟังเพื่อน้อมเข้ามาในตน ไม่ยอมให้รั่วไหลไปที่อื่น ตกลงการฟังภายนอกและการฟังภายในก็เลยเป็นปัจจัยเครื่องหนุนปัญญาของท่านให้สมบูรณ์ ควรแก่การถอดถอนกิเลสเป็นลำดับ สัปบุรุษผู้ใคร่ธรรมก็ควรจะเอาอย่างท่านไว้พิจารณาบ้าง จะพึงเป็นผู้ไม่ขาดแคลนในธรรมอันตนจะพึงได้ยินได้ฟังจากกายและจิต ซึ่งประกาศความจริงอยู่ตลอดเวลา


ศาลากองทัพกองทุกข์

มื่อปลูกศาลาขึ้นแล้ว จะเป็นหลังเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เราจะกั้นกางหวงห้าม ไม่ให้แขกมาพักอาศัยก็ไม่ได้ บรรดาแขกที่มาจากที่ต่างๆ ทั้งที่ใกล้และที่ไกล ทั้งที่เป็นคนดีและคนชั่ว ต้องขึ้นพักบนศาลานั้นก่อนไปอื่น นี้เรียกว่าศาลารับแขก  เมื่อตั้งรูปกายขึ้นปรากฏแล้ว  จะเป็นสัตว์เป็นมนุษย์ก็ตาม  จะเป็นรูปกายเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ชื่อว่าเป็นเรือนอยู่แห่งสุขหรือทุกข์มีโรคเป็นต้น โรคทุกชนิดก่อนจะหายหรือไม่หายนั้น ต้องเกิดขึ้นที่กายก่อนอื่น ฉะนั้นจึงเรียกว่ากายเป็นเส้นทางเดินของโรค มีเจ็บไข้ เป็นต้น ทั้งที่เป็นโรคเกิดกับตัว ทั้งที่เป็นโรคเกิดจากการกระทบดินฟ้าอากาศ ซึ่งเรียกว่า โรคจรมา นี้เรียกว่า ศาลากองทุกข์
ส่วนจิตเล่า ก็เป็นเส้นทางเดินของกิเลสความเศร้าหมองทั้งหลาย ทั้งที่เป็นส่วนหยาบ ส่วนกลาง และเป็นส่วนละเอียด ต้องเกิดขึ้นที่จิต ซึ่งเป็นเส้นทางเดิน จะให้เกิดขึ้นที่อื่นไม่ได้ ท่านผู้พิจารณาโดยแยบคายด้วยปัญญา ก็สามารถทำกายและจิตให้เป็นเส้นทางเดินของคุณงามความดี มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ได้อีกเหมือนกัน ดังพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ท่านสร้างโพธิสมภาร เพื่อเป็นศาสดาจารย์สอนโลก ท่านก็เอากายซึ่งเป็นเส้นทางเดินของโรค และเอาจิตซึ่งเป็นเส้นทางเดินของกิเลสทั้งหลายนั่นเองสร้างพระบารมี โรคก็เป็นไปในกาย กิเลสก็เป็นไปในจิต คุณงามความดี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นไปในกายกับจิตอันเดียวกัน ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวในสถานที่อันเดียวกัน เช่นเดียวกับโรงงานโรงสี ซึ่งเต็มไปด้วยตัวจักรทั้งเล็กทั้งใหญ่ ซึ่งมีอยู่ในโรงงานอันเดียวกัน ต่างก็ทำหน้าที่ของตัว ผลรายได้ที่เกิดจากงานก็คือข้าวสาร และแกลบรำ บดได้ที่แล้ว ข้าวสารตกไปทางหนึ่ง แกลบรำตกไปทางหนึ่ง จากโรงงานอันเดียวกันฉะนั้น
เพราะฉะนั้นกายกับจิตจึงเป็นเหมือนธรรมสภา สถานที่ประกาศศาสนธรรมอยู่ในตัว พร้อมทั้งปุจฉาและวิสัชนา ให้ผู้ไตร่ตรองถึงเหตุผลที่ประกาศอยู่ทุกเวลา ซึ่งล้วนแล้วแต่อริยสัจอันยอดเยี่ยม ให้ได้อุบายจากธรรมนั้น ๆ เพราะกิเลสเครื่องผูกมัดกับธรรมเครื่องกำจัดกิเลสย่อมเป็นคู่ประชันขันแข่งกันแต่ไรมา จะหนีจากกายกับจิตไปไม่พ้น จะเป็นคนพาลก็ดี จะเป็นนักปราชญ์ก็ดี จะพึงนำวัตถุดิบ คือกายกับจิตนี้เองไปถลุงให้สำเร็จรูปเป็นกิเลสและบาปธรรม เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา และเป็นองค์มรรคผลนิพพานขึ้นมา
แม้สาธุชนที่สนใจและปฏิบัติจนเห็นผลธรรมอยู่ขณะนี้ ก็พึงทราบว่ามาจากกายกับจิตเป็นสำคัญ หาได้เหาะเหินและเดินมาแต่ที่ไหนไม่ ที่สำคัญไปว่า ศาสนธรรมเจริญที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ก็เนื่องจากเรื่องจับปลานอกสุ่ม ตะครุบเงานอกจากตัวไป ซึ่งอาจจะเกิดความผิดหวังไปก็ได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากขาดความสนใจในธรรม ซึ่งตีตราความหมายไว้โดยถูกต้อง และขาดความสนใจในการค้นคิดในธรรม ซึ่งมีอยู่ภายในกายกับจิตของตน จึงเป็นเหตุกังวลสนใจไปภายนอกมากกว่าความจริงและสิ่งจำเป็นซึ่งมีอยู่ ณ ภายใน
วัตถุหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในแผ่นดิน สิ่งทั้งนี้แม้จะเป็นของมีค่าอยู่ในตัวของมันเอง ก็ยังอาศัยผู้สนใจและมีความฉลาดสามารถค้นคิดและนำวัตถุนั้นๆ มาตรวจสอบแยกธาตุ ทดลองและประกอบขึ้นเป็นสารประโยชน์ แล้วนำออกมาสู่ท้องตลาดโลก เป็นสินค้าบนผืนแผ่นดินได้อย่างงามๆ สิ่งทั้งนี้เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำมาผสมส่วนกันพอดีแล้ว เลยกลายเป็นของจำเป็นและมีคุณค่าแก่มนุษย์ทั่วโลก ซึ่งประจักษ์แก่สายตาอย่างแจ่มชัดอยู่เวลานี้ ทั้งนี้เพราะความฉลาดของมนุษย์ จึงสามารถยังวัตถุหรือแร่ธาตุที่อยู่ตามปกติ ซึ่งขาดความสนใจจากมนุษย์นั้นๆ ให้ไหวตัวขึ้นมาสู่ความเป็นของมีคุณค่ามากได้
ธรรมธาตุซึ่งเปรียบกันได้กับแร่ธาตุต่าง ๆ ก็มีอยู่ทั่วไปในพิภพเหมือนกัน ธรรมธาตุนี้แม้จะประเสริฐอยู่โดยธรรมชาติของธรรมก็จริง ก็ยังต้องอาศัยและมีผู้ฉลาดสามารถค้นคิดและนำธรรมธาตุนั้น ๆ มาตรวจสอบแยกธาตุเป็นส่วนดีส่วนชั่ว แล้วมาประกอบเป็นประโยชน์จนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญา แล้วนำออกมาสู่ตลาดไตรพิภพ โดยแนะนำพร่ำสอนแก่ผู้สนใจในธรรมธาตุนั้น จะได้นำไปปฏิบัติและได้เห็นธรรมธาตุนั้นว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตนตลอดกาลด้วย
สิ่งคือธรรมธาตุอันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ผู้เป็นนักธรรมศาสตร์ จิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นำมาผสมส่วนกันพอดีแล้ว เลยกลายเป็นของจำเป็นและมีคุณค่าแก่บรรดาสัตว์ทั่วพิภพ ซึ่งประจักษ์แก่ญาณของสามีจิกบุคคล และสายตาของมนุษย์และเทวดาทั่วไตรโลกธาตุอยู่ ณ เวลานี้ ธรรมธาตุทั้งนี้ก็อาศัยความฉลาดของมนุษย์อัศจรรย์ จึงสามารถค้นคิดประดิษฐ์สิ่งที่มีอยู่ตามปกติซึ่งขาดความสนใจจากมนุษย์และสัตว์ ให้ไหวตัวขึ้นมาสู่ความเป็นของมีคุณค่ามากได้ เช่นเดียวกับวัตถุและแร่ธาตุต่าง ๆ ฉะนั้น
ธรรมธาตุซึ่งเรียกกันว่า ธรรม นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและได้ดื่มรสเป็นคนแรกในศาสนาปัจจุบันนี้ ความเป็นผู้เลิศทั้งนี้ได้มาจากกายกับจิต ซึ่งเป็นสถานที่สถิตอยู่แห่งธรรมธาตุทั้งปวง และธรรมธาตุอันนี้ก็มีอยู่ในมนุษย์และสัตว์ไม่เลือกหน้า แต่ยังเปื้อนด้วยมลทิน คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จนกว่าจะได้เจียระไนด้วยข้อปฏิบัติให้หมดสิ้นไปจากใจเสียเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเป็นธรรมธาตุที่แท้จริง เกิดในสถานที่ธรรมธาตุมีอยู่นั้นเอง สรุปความนักปราชญ์ร่ำรวยคุณงามความดี มหาเศรษฐีร่ำรวยแต่เงินทองด้วยประการฉะนี้

พระธรรมเกิดจากอะไร และจะสูญสิ้นไปเพราะเหตุไร
          
คำว่า ธรรม กับ ธรรมเป็นของมีอยู่ตลอดเวลา ได้กล่าวแล้ว แต่คำว่า พระธรรมเกิดจากอะไร และจะสูญสิ้นไปเพราะเหตุไร นั้น จะกล่าวตามธรรมที่อาศัยสิ่งเกิดขึ้นและสิ่งจะยังธรรมให้สูญสิ้นไป ตามธรรมดาของธรรมย่อมมีอยู่ตามธรรมชาติ มิได้เป็นทาส เป็นนายของผู้ใด ใครจะตำหนิติชมว่าดี ว่าชั่วก็ตาม ใครจะปฏิบัติธรรมก็ตาม ไม่ปฏิบัติก็ตาม หรือใครจะรู้หรือไม่รู้ว่าธรรมเป็นอะไรก็ตาม ธรรมก็มีอยู่อย่างนั้น มิได้ละฐานะมีอยู่ของตนให้เคลื่อนที่หรือดับสูญไปไหน
ส่วนคำว่า ธรรม ที่จะเกิดขึ้น หรือสูญสิ้นไปนั้น หมายถึงเหตุการณ์ที่จะยังธรรมซึ่งมีอยู่นั้นให้มาเป็นสิ่งปรากฏขึ้น และเป็นสิ่งที่สิ้นสูญไปฉะนั้น จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ธรรมเกิดธรรมดับ ตามความสมมุตินิยม
พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี ในอนาคตก็ดี เป็นผู้สามารถค้นคิดประดิษฐ์ธรรมขึ้นมาให้ปรากฏเป็นความหมายขึ้นแก่โลก เรียกว่าพระธรรมเกิดแล้วแก่โลก คำที่ว่าพระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลก มิได้หมายความว่า พระธรรมไม่เคยมีอยู่ในโลกก่อนพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระธรรมเป็นธรรมธาตุ ธรรมฐิติ  มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ธรรมนิยมยังไม่มี เพราะยังไม่มีใครมีความรู้ สามารถค้นคิดธรรมขึ้นมา ให้เป็นสิ่งที่ควรนิยมได้ ฉะนั้นแม้ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ จะมีอยู่ แต่ธรรมนิยมยังไม่มี เพราะยังไม่มีใครมีความรู้สามารถค้นคิดธรรมขึ้นมาให้เป็นสิ่งที่ควรนิยมได้ ฉะนั้นแม้ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ จะมีอยู่ แต่ธรรมนิยมยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมซึ่งมีอยู่ประจำโลก พระธรรมที่อาศัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น จึงปรากฏในพระหฤทัยอย่างแจ่มชัด เรียกว่า พระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลกเป็นวาระที่ ๑
บรรดาพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์จะนิ่งดูดายไม่ได้ จะพึงวางศาสนธรรมไว้ประจำโลก ได้ทรงอุตส่าห์เที่ยวจาริกสั่งสอนบรรดาสัตว์ผู้ควรรับธรรมจากพระองค์ เมื่อบรรดาสัตว์ผู้มีอุปนิสัยได้รับธรรมจากพระองค์แล้วก็ได้ตรัสรู้ตามพระองค์โดยฉับพลันบ้าง โดยปฏิบัติเวลาพอประมาณบ้าง โดยช้าเป็นลำดับลงมาบ้าง จึงได้ปรากฏว่าพระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลกเป็นวาระที่ ๒  ในลำดับต่อ ๆ มา ใครบำเพ็ญเพียรได้ตรัสรู้ ณ ที่ใด ก็เรียกว่า พระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลก ณ ที่นั้น ในลำดับต่อ ตกลงพระธรรมเกิดในโลกมิได้ขาดระยะ
เหตุที่พระธรรมจะเกิดขึ้นในโลกอย่างเด่นชัด ก็เนื่องจากข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาอย่างสมบูรณ์ สามารถยังธรรมให้เกิดได้โดยสมบูรณ์เท่าเทียมกัน มีข้อจะพึงสงสัยว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มิใช่ธรรมหรือ แล้วจะยังธรรมที่ไหนให้เกิดขึ้นอีกเล่า
พึงเฉลยว่า จริง แต่ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นธรรมฝ่ายเหตุ คือ มรรค ส่วนธรรมที่จะพึงรู้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมฝ่ายผล ฉะนั้นธรรมเกิดขึ้นจากข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ธรรมจะสูญสิ้นไปเพราะขาดข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อีกประการหนึ่งพระธรรมจะสูญสิ้นไปในรายบุคคล (แต่เป็นธรรมสังเวชในสังคมพุทธศาสนา) คือ พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานไปเสีย พระธรรมก็หมดความหมายของสมมุติ การกล่าวมาทั้งนี้หมายถึง ปฏิเวธธรรม อันเกิดจากปฏิบัติธรรม ซึ่งจะเกิดและสูญสิ้นไปได้ ในเมื่อข้อปฏิบัติหรือผู้ทรงธรรมสูญสิ้นไป  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ เช่น พระยมกเคยกล่าวกับพระสารีบุตร อันเป็นการให้ร้ายต่อความจริง ซึ่งมีอยู่ประจำองค์แห่งความบริสุทธิ์
                
เหตุที่พระธรรมจะเป็นไปตามสมัย
            
คติธรรมดาย่อมหนีไม่พ้น ฉะนั้นธรรมจึงจัดว่าเป็นคติธรรมดา คือตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างโน่นเข้าข้างนี้ ทรงคุณภาพไว้ตามส่วนของธรรม ซึ่งมีทั้งดีทั้งชั่วรวมกันอยู่ เช่นเดียวกับห้างร้านใหญ่ ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด มีทั้งของดีเยี่ยมราคาแพง ทั้งของปานกลางราคาพอประมาณ และทั้งของหยาบราคาต่ำ ซึ่งมีไว้ตามฐานะและกำลังทรัพย์ของลูกค้าในที่นั้น ๆ ผู้ต้องการจะซื้อสินค้าทั้งนี้ จะพึงเลือกได้ตามกำลังทรัพย์และความฉลาดของตน ถ้าขาดความพิจารณาก็จะได้ของเก๊ทั้งราคาแพง ๆ ซึ่งไม่สมกับคุณค่าทุนทรัพย์ของตนมาใช้ หากว่าพิจารณาโดยถี่ถ้วนก็จะได้ของดีเยี่ยม และพอเหมาะกับคุณค่าทุนทรัพย์ของตนมาใช้ฉะนั้น
คนฉลาดชอบของดีเยี่ยม จะพึงประพฤติแต่สิ่งที่ดีเพื่อความดี ผลตอบแทนที่จะพึงได้รับจากพระธรรมก็คือ วิมุตติพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอย่างยอดเยี่ยม คนฉลาดรองลำดับกันลงมา พร้อมทั้งความประพฤติดีเป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็จะพึงได้รับผลตอบแทนจากพระธรรม คือ มรรคผลเป็นชั้น ๆ รองลำดับกันลงมา และคนมีความฉลาดน้อย จะพึงประพฤติดีตามกำลังของตน ผลที่จะพึงได้รับจากพระธรรมก็คืออุปนิสัยอันดี เป็นรากฐานของจิตไว้ในลำดับแห่งภพนั้นๆ จนกว่าจะมีอุปนิสัยสามารถฉลาดรู้ทั่วถึงธรรมอันยอดเยี่ยมต่อไป ฉะนั้นพระธรรมจึงเปรียบเหมือนสินค้าซึ่งรอต้อนรับพุทธบริษัททุกประเภท ไม่นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย เป็นนักบวชและฆราวาส จะพึงมีสิทธิได้รับผลที่ดีจากความประพฤติดีของตนๆ แต่ผู้ชอบในทางชั่วทำลงไป เมื่อได้รับผลเป็นทุกข์เดือดร้อน จะกลับตำหนิพระธรรมก็ไม่ได้อยู่เอง
กาลใดที่พระธรรมไม่ได้รับความเอาใจใส่และปฏิบัติจากประชาชน ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม กาลนั้นพระธรรมก็ไร้ความหมายและไม่มีคุณค่าแก่ผู้ใด แต่กาลใดที่ได้รับความเอาใจใส่และปฏิบัติ กาลนั้นพระธรรมก็มีความหมายและมีคุณค่าเท่าที่ควรแก่ผู้ปฏิบัติ เรียกว่าพระธรรมเป็นไปตามสมัยของความสมมุตินิยม แต่คำว่าพระธรรมเป็น อกาลิโก นั้น เป็นสิทธิของพระธรรมเองไม่เกี่ยวกับผู้ปฏิบัติแต่อย่างใด

พระธรรมอยู่กับคนบางคนกลายเป็นธรรมปลอม

พระคุณเจ้าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เคยเทศน์ในท่ามกลางสานุศิษย์บ่อยครั้งว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าแม้จะเป็นของจริง แต่เมื่อสิงสถิตอยู่กับปุถุชน ธรรมนั้นก็กลายเป็นธรรมปลอม ครั้นสิงสถิตอยู่กับพระอริยเจ้า จึงเป็นของจริงตามส่วนแห่งธรรมและภูมิของผู้บรรลุ
ตามคติธรรมดา ผู้วิวาทจะตัดสินคดีเอาเองตามชอบใจไม่ได้ เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา คือ ผู้รู้ธรรมจริงและธรรมปลอม ก็ความสงสัยในเรื่องธรรมทั้งนี้ เราทั้งหลายจะตัดสินเอาเอง ก็เกรงว่านักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ไม่ทรงไว้พระทัยและรับรอง จึงขอน้อมถวายความสงสัยในธรรมทั้งนี้แด่นักปราชญ์ท่านเป็นใจความย่อว่า คนที่รู้จักเพชรพองู ๆ ปลา ๆ กับคนไม่รู้จักเพชรเสียเลย คนทั้งนี้จะไม่สามารถรู้จักเพชรแท้และปลอมได้เลย แต่คนที่รู้จักเพชรแท้ พร้อมทั้งเจียระไนเพชรขึ้นเองได้อย่างคล่องแคล่ว ผู้นี้เองจะรู้จักเพชรแท้หรือเพชรปลอมได้อย่างชัดเจน คนที่รู้จักธรรมพองูๆ ปลาๆ กับคนที่ไม่รู้จักธรรมเสียเลย คนทั้งนี้จะไม่สามารถรู้ธรรมว่าเป็นของจริงหรือของปลอมได้เลย แต่คนที่รู้จักธรรมแท้ พร้อมทั้งที่เกิดขึ้นแห่งธรรมและที่ดับแห่งธรรม โดยความรอบคอบด้วยปัญญา และพร้อมทั้งความไม่ถือมั่นในธรรม ผู้นี้เองจะสามารถรู้จักธรรมที่แท้จริงหรือธรรมปลอม ในเมื่อธรรมสิงสถิตอยู่กับบุคคลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

เหตุที่พออยู่พอไป
การที่จิตจะพอใจอยู่ในโลก อยากหนีจากโลกบ้าง ไม่อยากหนีบ้าง และไม่อยากหนีเลย ทั้งนี้เพราะแต่ละภพและภูมิซึ่งเป็นที่อาศัยของจิต เต็มไปด้วยเครื่องยั่วยวนอายตนะให้เพลิดเพลินและติดอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ของสรรพสัตว์นั้น ๆ ยังไม่แตกสลายเสียเมื่อใด ก็จะพึงได้รับสัมผัสจากอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และเครื่องสัมผัส ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลและรอต้อนรับอยู่ตราบนั้น แม้จะได้รับความเศร้าสลดใจจากอารมณ์อันไม่ปรารถนานั้นๆ เป็นบางคราว ก็ยังหวังได้รับความเพลิดเพลินและความสุขจากอารมณ์อันน่าปรารถนา เป็นเครื่องยั่วและแก้กันไปในตัวซึ่งมีปะปนกันอยู่ สิ่งที่มีอยู่ในภพในภูมิซึ่งพอเหมาะสมกับจิตที่ยังมีความชอบรักเป็นนิจสิน ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส และเครื่องสัมผัสแต่ละอย่างๆ มีอยู่โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับสินค้าต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในท้องตลาด อันจะพึงเลือกชมและหาซื้อได้ตามความต้องการทุกเวลาฉะนั้น
ดังนั้นเมื่อจิตมีอารมณ์ทิพย์ เป็นเครื่องบำรุงบำเรออยู่ตลอดเวลาในภพในภูมินั้น ๆ จึงเป็นการยากที่จะฉุดลากออกหนีให้ห่างไกลได้ เหมือนเด็กยังไม่รู้จักเดียงสา ซึ่งกำลังมัวเมาในการเล่นตามภาวะของตน ๆ แม้ผู้ปกครองจะพึงว่ากล่าวหรือฉุดลากออกจากที่เล่น เพื่อประกอบการงานทางบ้านอันเป็นประโยชน์และความดีของเด็กในอนาคต ก็มิได้เอาใจใส่ในคำว่ากล่าวของผู้ปกครองฉะนั้น เมื่อจิตมีความผวนผันในอารมณ์หาเวลาอิ่มพอมิได้แม้แต่เวลาเดียวเช่นนี้ จึงเป็นเหมือนไฟไหม้เชื้อ ธรรมดาเชื้อไฟไม่ว่าจะเป็นเชื้อเล็ก ๆ หรือใหญ่โตมากน้อยเท่าไร และไม่ว่าจะเป็นเชื้อชนิดใด ๆ จะพึงเป็นสิ่งที่ยังไฟให้กำเริบลุกลามเป็นกองเพลิงอันใหญ่โตได้ทั้งนั้น ผลที่สุดในเมื่อไฟได้เชื้อพอแล้ว จะมีกำลังสามารถเผาผลาญสิ่งต่างๆ ได้หมด ไม่ว่าสิ่งที่ตายแห้งหรือยังสดชื่นอยู่ จนกระทั่งตึกรามบ้านช่อง หรือแร่ธาตุทุกชนิดซึ่งมิได้เป็นเชื้อเพลิงเลย ก็จะต้องกลายเป็นกองเพลิงไปตาม ๆ กันหมด ไม่มีสิ่งใดยังเหลือค้าง ด้วยกำลังไฟกล้าซึ่งได้จากเชื้อต่างๆ
เชื้อสำคัญที่ยังจิตให้กำเริบลุกลามก็คืออารมณ์เครื่องยวนใจ จะเป็นอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่จิตได้รับสัมผัสเข้าเท่านั้น ก็จะแสดงลวดลายพรายกระซิบขึ้นมาทันที จึงเป็นเหตุให้ทวีความดีใจเสียใจเกี่ยวพันกันไป ไม่มีวันและเวลาเป็นปกติ ทั้งนี้ไม่ว่าอารมณ์ที่น่าเสียใจและน่าดีใจ จะพึงเป็นสิ่งที่สามารถยังใจ ให้กำเริบในการครุ่นคิดที่จะหาทางหลีกเลี่ยงและปรารถนา ผลคือความสุขความทุกข์ก็จะพึงเกิดขึ้นในลำดับ เมื่อเชื้อคืออารมณ์ เป็นเหยื่อป้อนจิตผู้ชอบแสวงหาอยู่ทุกขณะแล้ว ก็จะปรากฏผลคือความสุขความทุกข์ สืบหน่อต่อแขนงเป็นลูกโซ่ต่อกันไป ตลอดวันคืนปีเดือนและตลอดภพชาติ จะปรากฏในกำเนิดแห่งภพนั้นๆ เป็นลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งรูปกาย ทั้งความต่างแห่งภพนั้นๆ จะพึงสับสนระคนกันไปตลอดกัปตลอดกัลป์ โดยทำนองนี้ไม่มีเวลาสิ้นสุดลงได้
ทางศาสนโวหารเรียกว่า ความหมุนเวียน คือหมุนเวียนระหว่างเหตุ คืออารมณ์กับจิต ระหว่างผล คือสุขทุกข์กับจิต และความหมุนเวียนระหว่างเหตุ คือภพ ระหว่างผลคือ ชาติและสุขทุกข์อันมีประจำในภพชาตินั้น ๆ ความหลงจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้หลงอารมณ์แม้มีจำนวนมาก จากนี้ก็หลงภพหลงชาติ หลงสุขลืมทุกข์ คล้ายกับว่าสิ่งทั้งนี้ตนมิได้เคยประสบมาก่อนเลย ซึ่งล้วนแล้วแต่ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน หมอนเคยเรียงเสบียงเคยกินทั้งนั้น เมื่อความเป็นไปของจิตปรากฏอยู่อย่างนี้ไม่ยอมเปลี่ยนความประพฤติของตนเสียใหม่ พฤติการณ์ของจิตก็จะเป็นไปในทำนองภาษิตที่กล่าวไว้ว่า สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ปลาย่อมตายเพราะเหยื่อล่อ หรือจะพยายามสั่งสมอารมณ์และภพชาติไว้มาก ๆ ด้วยหวังใจว่าจะให้ร่ำรวยเกินโลกเขา ก็อาจจะเป็นทำนองขรัวตาธัมมา ๆ เข้าบ้านก็ได้
เรื่องมีอยู่ว่า ขรัวตาธัมมาอายุแก่ ความโลภในลาภสักการะก็แก่เท่าเทียมกัน ท่านอยู่วัดด้วยกันสององค์กับสามเณรน้อยผู้เป็นหลาน เธอเป็นคู่หูคู่ตาคอยดูแลฟังเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากทางบ้านมากกว่าอื่น ตามปกติขรัวตาธัมมาชอบซ้อมกุสลาไว้เสมอจนคล่องปาก เพราะเป็นธรรมคู่ชีวิตของท่านในเวลาค่ำคืนหรือเวลาฉุกเฉิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเวลาคนตาย ท่านเองก็ชอบสนใจในทางนี้ด้วยมากกว่าทางอื่น ตามปกติเวลาท่านจำวัด (เวลาพักนอน) จะเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ท่านต้องใช้ให้เณรน้อยเป็นคนเฝ้ายามท่านเสมอ เผื่อเวลาคนตายเขามานิมนต์ สามเณรจะได้รับทราบไว้แล้วบอกกับท่านเมื่อเวลาตื่นนอน หรือปลุกท่านเวลากะทันหันจะได้ทันกับเวลาต้องการของศรัทธา และอะไร ๆ ของท่าน นอกจากนั้นเวลาปกติได้ยินเสียงเด็กหรือใครร้องไห้ในบ้าน ขรัวตาสำคัญว่าคนตาย ต้องสั่งเณรให้เข้าไปดูทันทีว่า เณรน้อย ไม่ใช่เรื่องนั้นหรือ ไปดูซิ ถ้าจริงรีบมาบอกเรา
ตามปกติเณรน้อยไม่ค่อยจะได้นอนเป็นหลับเป็นตื่น ถูกสั่งให้เข้าไปดูคนตายวันยังค่ำคืนยังรุ่ง เพราะเด็กและผู้ใหญ่ทั้งบ้านย่อมมีการหัวเราะร้องไห้เป็นธรรมดา แต่ขรัวตาสำคัญว่าเป็นเรื่องของคนตายทั้งนั้น ในเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้เกิดขึ้น เณรน้อยเข้าไปดูเห็นว่าไม่ใช่คนตาย แล้วกลับออกมาโดยทำนองนี้เป็นเวลานาน ยิ่งเด็กมีมากก็ย่อมร้องไห้บ่อยตามภาวะของเด็ก เรื่องทั้งนี้ ก็ยิ่งเป็นข้าศึกแก่สามเณรมากเข้า
หนักเข้าเณรเกิดความรำคาญใจ เวลาขรัวตาสั่งให้เข้าไปดูคนตายในขณะเด็กร้องไห้ ก็เลยได้โอกาสคบคิดกับญาติโยมทางบ้าน ทำเป็นอุบายร้องไห้เหมือนคนตายจริงๆ เณรได้เหตุสำคัญแล้วก็รีบออกมาบอกหลวงตา ฝ่ายทางบ้านก็ปรับปรุงความเข้าใจให้เป็นที่รู้กัน แล้วก็ทำเป็นทีท่าให้บุรุษชายฉกรรจ์คนหนึ่งตาย แล้วพร้อมกันทำโลงบรรจุศพ เสร็จแล้วก็เขียนหน้าบุรุษนั้นด้วยสีต่างๆ ด่างๆ ดำๆ น่ากลัวพิลึกเหมือนผีตายจริงๆ เสร็จแล้วก็ให้บุรุษนั้นเข้าไปนอนอยู่ในโลงผี พอตกตอนบ่ายเย็นหน่อย ซึ่งเป็นเวลาผีตกป่าช้าตามธรรมเนียมแล้ว ต่างก็จัดคนไปนิมนต์ขรัวตาธัมมา เมื่อไปถึงวัดยังไม่ได้นิมนต์ ขรัวตารีบรุดออกมาถามเสียก่อน ก็ได้รับคำตอบจากโยมว่าคนตายในบ้าน จะมานิมนต์ท่านไปโปรดสัตว์ พอทราบเท่านั้นท่านก็รีบเตรียมตัวเข้าไปในบ้านทันที และสั่งเณรให้รักษากุฏิ พร้อมด้วยให้ปิดประตูใส่กลอน เพราะเกรงว่าขโมยจะมาลักเอาสิ่งของซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
พอขรัวตาไปพ้นเขตวัด สามเณรซึ่งได้รับการเสี้ยมสอนจากญาติโยมมาแล้วเป็นอย่างดี ก็รีบมาปิดประตูใส่กลอนอย่างแน่นหนา ความหวังใจก็เพื่อจะดัดเส้นหลวงพ่อ แล้วก็เข้าไปนอนขบขัน ผ้าคลุมหัวยันตีนอยู่ในห้องหัวเราะคนเดียว เวลานั้นความสนุกรื่นเริงของสามเณรน้อยได้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ จากอุบายอันฉลาดและสามารถต้มหลวงพ่อได้สด ๆ ทั้งหัวเราะทั้งคอยฟังเหตุการณ์ของหลวงพ่ออยู่ภายในห้องคนเดียว
พอหลวงพ่อไปถึงบ้านแล้ว  เขาก็นิมนต์จูงศพไปป่าช้า  พอไปถึงป้าช้าแล้วต่างก็ทำท่าลืมไม้ขีดไฟ ขวาน เสียม  บ่นเอ็ดกันไปพักหนึ่ง  แล้วก็ทำท่ารีบกลับไปบ้านเพื่อนำของที่ลืมกลับมา
พอไปถึงครึ่งทาง  ที่ไหนได้  ต่างก็พร้อมกันตัดหนามจุกทางเสียจนเต็มหมด  หาช่องหลีกเว้นไม่ได้แม้แต่น้อย ปล่อยให้ขรัวตาสวดกุสลาธัมมาคอยท่าอยู่องค์เดียว โดยสำคัญว่าเขาจะกลับมา เมื่อสวดกุสลาไปถึงครึ่ง ผีทั้งเป็นซึ่งอยู่ในโลงก็เริ่มแสดงปาฏิหาริย์และเริ่มปรากฏเสียงขึ้นในโลงตึงตัง ๆ ขรัวตาชักยังไง ๆ ว่ากุสลาไปบ้าง หยุดฟังและตาจ้องบ้าง และว่าได้แต่เพียงกุสลา ธัมมาบ้าง เพียงกุๆ บ้าง  เพียงธัมมาบ้าง ตามองทางเพื่อเอาตัวรอดบ้าง ผีในโลงก็เริ่มปาฏิหาริย์  ขรัวตาก็เริ่มตั้งท่าจะวิ่งหนี ทั้งมองผีในโลง ทั้งมองทางจะเผ่น กุสลาซึ่งเคยคล่องแคล่วก็ชักยังไงๆ ชอบกล มือกำย่าม ตาทั้งมองทางจะหนี ทั้งมองผีจะวิ่งตาม ทั้งมองหาใครก็ไม่เห็น พอดีผีก็โผล่หน้าขึ้นมามองดูตาแดงคิ้วขมวดหนวดใต้คางดำปี๋  สีหน้าเหมือนยักษ์  พร้อมทั้งพยักหน้าทำท่าจะกัดกินจริงๆ  ซึ่งนับแต่วันขรัวตาหากินทางนี้มาก็นับเป็นเวลานานปี  ไม่เคยมีเหมือนอย่างคราวนี้
ผู้เฒ่าก็ออกอุทาน โธ่ตาย”  เท่านี้ พร้อมทั้งกระโดด และออกเสียงกุสลาได้เพียงธัมมากับมาๆ ๆ ๆ ไปตามทาง ไอ้ผีจัญไรก็กระโดดออกจากโลงแล้วก็วิ่งไล่ ขรัวตาทั้งกลัว ๆ จนตัวสั่น และมาๆ ๆ กระเสือกกระสนไปตามทาง ทางก็เจ้ากรรมทำขรัวตา ผู้มาก่อนตัดหนามกั้นทางหมด จะวิ่งหลบหลีกปลีกไปไหนก็ไม่ได้  ต้องวิ่งฝ่าหนาม ผีก็วิ่งตามหลัง กุสลาออกหน้า ต่างก็วิ่งไม่หยุด จีวรหลุดอยู่กับหนาม ย่ามก็ตก สบงก็ขาด ไม่อินัง ขอแต่ชีวิตยังอยู่คู่ทองคำนำติดตัวไม่ขาดสูญ นับว่าเป็นบุญคุณของพ่อคราวนี้ เนื้อตัวของหลวงตาเต็มไปด้วยบาดแผลไม่มีเว้น เป็นเลือดหมดทั้งตัว จีวร สบง และย่าม ฝากหนามไว้ไม่คำนึง เพราะดวงใจตกตะลึงพรึงเพริดวิ่งเตลิดเลยกุฏิ กว่าจะมีสติกลับมาได้ วิ่งใส่บานประตู กระแทกบานประตูกี่ครั้งก็ไม่หลุด หลวงตาวิ่งทั่ววัด ทั้งถลอกปอกเปิกหมดเนื้อตัว กว่าเณรน้อยจะเปิดประตูให้ขรัวตาเกิดเป็นลม ผีไม่รู้ว่าหยุดไล่แต่ที่ไหน
พอได้สติขึ้นมาก็เกิดอธิกรณ์กันกับเณร หาว่าเณรแกล้งปิดประตู เณรก็แก้ว่าหลวงพ่อสั่งให้ปิดและใส่กลอนให้แน่นหนา และแก้ว่านอนหลับ ขณะหลวงพ่อมาไม่รู้สึก ขรัวตาธัมมารักษาบาดแผลที่ฟกช้ำตามบริเวณร่างกาย กว่าจะหายได้สนิทก็เกือบไปเกือบอยู่
นับแต่ขรัวตาไปซ้อมรบในโรงเรียนดัดสันดานจากผีทั้งเป็นมาแล้ว ได้มีการระวังตัวเข้มงวดดีนัก แม้ที่สุดจิ้งจกวิ่งไล่กันตกลงมาถูกที่บริเวณใกล้ๆ ท่านก็ตื่นและกระโดดทันทีพร้อมกับยกธรรมาวุธ ขึ้นรับว่า มาๆ  ทุกครั้งที่มีเหตุมาเผชิญ ได้ยินเสียงหนูและเณรเปิดปิดประตูก็ตกใจ เพราะสำคัญว่าผี เผลอตัวพูดขึ้นทั้งแรงว่า มา ๆ  เอะอะก็ มา ๆ ทั้งนั้น เรื่องรอดตายเป็นประโยคใหญ่หลวง ได้ยินเสียงอะไรไม่ได้เป็นต้อง มาๆ ไปทั่วทั้งป่าทั้งบ้าน จนเขาได้ขนานนามให้ท่านว่า ขรัวตาธัมมา มาจนบัดนี้
ต่อมาไม่นานถูกคนตายเข้าจริง ๆ เขามานิมนต์ ขรัวตาก็ขู่เข็ญใหญ่ว่า พวกท่านจะต้มเราอีกหรือ มองดูตัวเราซิว่าเป็นไงบ้าง คราวที่แล้วเราก็เป็นเพียงสลบและบาดแผลเต็มตัว ผ้าจีวรสบงและย่ามขาดตกหายไปไหนไม่รู้ จนป่านนี้เราก็ยังไม่ได้มองหน้าไปทางป่าช้า เพราะความเข็ดหลาบ คราวนี้พวกท่านจะมาล่อเราไปฆ่าหรือ เราไม่ไป ไม่ไปเป็นเด็ดขาด บาดแผลเรายังเต็มตัว ความกลัวเรายังไม่หาย มีแต่กายเปล่าๆ ซึ่งเต็มไปด้วยแผล ไตรจีวรแม้ตัวเดียวก็มิได้ติดตัวเรามา เราจะเปลือยกายไปโดยปราศจากเครื่องนุ่งห่มปกปิดมีอย่างหรือ? พวกท่านจะเอาเราไปต้มยำที่ไหนอีกเล่า
พวกโยมก็วิงวอนขอร้องให้หลวงพ่อเมตตาครั้งแล้วครั้งเล่า ขรัวตาทนความวิงวอนไม่ไหวจึงย้อนถามว่า ไอ้คนนั้นมันตายจริง ๆ หรือ? เขาบอกว่าตายจริง คนตายนั่นน่ะเป็นหญิงหรือเป็นชายแน่ บอกเราโดยตรง เขาบอกว่าเป็นชาย หลวงพ่อตอบพร้อมด้วยความอ่อนใจว่า เราตายอีกแล้ว ตายแน่ ๆ และถามอีกว่า คนที่ตายนั้นน่ะเป็นคนอ้วนผอมสูงต่ำประการใดอยากทราบไว้ก่อน เขาก็บอกตามความจริงว่า คนอ้วนสูง แต่ถึงอย่างไรก็ตายแน่แล้ว หลวงพ่อไม่ต้องกลัว
เราไม่เชื่อใครง่ายๆ เราเคยถูกมาจังๆ แล้วเมื่อสองสามวันนี้เอง คราวก่อนเราก็ยังแข็งแรงอยู่บ้าง ในคราวนี้หากว่าถูกผีแบบเปรตนั้นเข้าอีก และก็หนทางแบบผีนั้นเข้าแล้ว เราก็ต้องนอนตายอยู่กับผีตัวนั้นอย่างหมดลมหายใจทั้งเป็นแน่เทียว เอ้า! ขอถามย้ำอีก ถ้าพวกท่านจะให้เราไปจริง แล้วก็คนที่ตายนั้นน่ะ พวกท่านมัดตีนมัดมือมันไว้หรือเปล่า เขาบอกว่าเปล่า
ถ้าจะให้เราไป พวกท่านรีบกลับไปมัดตีนมัดมือปิดตามันไว้ให้ดี อย่าให้มันกระดิกตัวลืมตามองไปไหนได้  เขาก็กลับไปทำตามคำหลวงพ่อโดยไม่ขัดขืนคำสั่งแต่ประการใด เสร็จแล้วกลับมานิมนต์หลวงพ่อให้เข้าไป ขรัวตาก็เตรียมออกเดินทางด้วยความจำใจและระมัดระวังภัยรอบด้าน
พอไปถึงบ้านก็สั่งให้เขาเปิดโลงผีดูตลอดหมดทั้งตัว เห็นว่าตายจริงอย่างเขาว่า แล้วก็นำศพไปป่าช้า ตามองหน้ามองหลังและถามเขาบ่อยครั้งว่า ไม้ขีดไฟขวานเสียมและมีดพร้าเอามาด้วยหรือเปล่า เขาบอกว่าเอามาพร้อมหมดแล้ว ยังต้องขอดูให้เห็นแน่จากเขา จนเห็นหมดทุกอย่างจึงยอมไป ผีตายแล้วก็ต้องให้ผูกมัดหมด และยังตรวจดูถี่ถ้วนทุกประการ เวลาเดินนำหน้าศพก็สวดกุสลาไปตามทาง ไม่ยอมนั่งสวดเหมือนคราวก่อน ๆ ทางปากสวดกุสลา ตามองไปข้างหน้ามองมาข้างหลัง กลัวเขาจะวิ่งหนีตอนกลางทาง
กุสลา ธัมมา ๆ พวกท่านอย่าด่วนหนีนะ เป็นทำนองนี้โดยตลอดทาง กุสลา ธัมมา อย่าเดินเร็วนัก กุสลา ธัมมา อย่าพากันวิ่งหนีนะ กุสลา ธัมมา เมื่อถึงป่าช้าให้เรากลับก่อน กุสลา ธัมมา อย่าตัดหนามกั้นทางนะ กุสลา ธัมมา เรายิ่งตาไม่ดีนะ กุสลา ก็เลยได้เพียงแค่นี้ไม่ถึงไหน
เมื่อถึงป่าช้าก็สั่งให้เขารีบจัดการ พอเสร็จพิธีแล้วขรัวตาธัมมาก็ไล่โยมพวกหนึ่งให้เดินออกหน้า และไล่โยมพวกหนึ่งให้เดินตามหลัง ตัวท่านเองก็เดินกลาง ให้โยมเดินห้อมล้อมจนมาถึงบ้าน แห่ไปถึงวัดเหมือนประชาชนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง จากนั้นมาเมื่อคนตายเขามานิมนต์เพื่อไปโปรดสัตว์ แต่ละงานต้องซักซ้อมโยมจนไม่มีช่องโหว่แล้วค่อยไปด้วยความระมัดระวัง ทั้งฟังเหตุการณ์ ไม่ได้ไปด้วยความโลเลเหมือนคราวที่แล้ว ๆ มา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความโลภมีมากความอยากมีหลาย ก็เลยกลายเป็นทุกข์และฉิบหาย คือไตรจีวรของเก่าก็ฝากหนามจนหมดสิ้น ร่างกายก็เต็มด้วยบาดแผลหมดทั้งตัว ความกลัวคราวที่แล้วเป็นครูสอนขรัวตาธัมมาได้อย่างเอก ความประพฤติภายในภายนอกของท่านหันเข้าหาทางมัชฌิมา เป็นที่เจริญศรัทธาของบริษัท นับว่าท่านมีนิสัย เพราะรับธรรมเทศนาจากผีทั้งเป็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็กลับตัวเป็นคนดีได้ ยังกลับเป็นขวัญใจของชาวบ้านเสียอีก ซึ่งแต่ก่อนเป็นข้าศึกกัน ควรเป็นคติได้ทั้งตอนต้นตอนปลาย
การนำนิทานมาลงประกอบทั้งนี้ เพื่อเป็นคติสอนใจที่เพลิดเพลินเกินขอบเขต มิได้มุ่งกิเลสอื่นใดแม้แต่น้อย ความทะเยอทะยานในอารมณ์โดยปราศจากความไตร่ตรอง อาจเป็นภัยแก่จิตเป็นพิษแก่ตัวไม่รู้วาย แม้ตายแล้วเกิดเล่าถึงภพของเก่าก็หลงเรื่อยไป อาการของจิตเป็นอย่างนี้ ท่านเรียกว่าสังสารจักร หากไม่พยายามแก้ไขก็จะเป็นไปทำนองนี้ตลอดอนันตกาล นักปราชญ์ท่านฉลาดแสวงหายาแก้ คือ ธรรม โรคคือสังสารจักรจึงขาดกระเด็นออกจากใจ ปรากฏธรรมจักรเกิดขึ้นแทนที่ นี้คือยาแก้ที่ถูกกับโรคจิต ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและเรื้อรังฝังอยู่ในจิตนานมาแล้ว หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายมิได้ 

ศาสนธรรมกับผู้ปฏิบัติในครั้งพุทธกาลกับสมัยปัจจุบัน

คำว่า ศาสนธรรม ได้อธิบายไว้บ้างแล้ว จะอธิบายเพียงเล็กน้อย เพื่อเข้าอนุสนธิกับบทธรรมซึ่งเกี่ยวแก่ผู้ปฏิบัติ คำว่าพุทธกาล หมายถึงสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คำว่าสมัยปัจจุบัน หมายถึงพระพุทธเจ้าล่วงไปแล้วนาน คือสมัยนี้นี่เอง ศาสนธรรมที่เกี่ยวกับผู้ทรงไว้แบ่งเป็น ๓ คือ
๑.ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงไว้และสั่งสอนพุทธบริษัทด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เอง
๒.ธรรมที่สาวกนั้น ๆ ทรงไว้และสั่งสอนผู้อื่นด้วยธรรมนั้น ๆ ตามความสามารถของผู้แสดงและผู้สดับ
๓.ธรรมซึ่งในสมัยต่อ ๆ มาทรงจำกันเป็นลำดับ ตลอดจารึกลงในคัมภีร์ใบลานและสั่งสอนกันโดยคัมภีร์หรืออัตโนมัติสืบต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงสมัยนี้
แม้พระธรรมจะเป็นธรรมชาติทรงคุณภาพไว้อย่างสมบูรณ์โดยความเป็นอกาลิโกก็จริง แต่ยังต้องอาศัยผู้ทรงธรรมซึ่งมีสมรรถภาพยิ่งหย่อนกว่ากัน และจะพึงนำความหมายของธรรมออกมาสู่สมมุติตามสมรรถภาพของตน ๆ ดังนั้นธรรมจึงประกาศคุณภาพ คือความจริงต่อส่วนรวมเท่าที่ผู้ทรงธรรมจะสามารถนำออกได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นควรแยกศาสนธรรมไว้เป็น ๓ ทั้ง ๆ ที่ศาสนธรรมออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ผู้เดียว
พระพุทธเจ้าพระองค์ฉลาดในธรรมทั้งหลาย และทรงมีความรู้อันกว้างขวางเหมือนท้องฟ้ามหาสมุทร ทั้งฉลาดในการเทศนา ทรงวางยาคือธรรมโอสถให้พอเหมาะแก่จริตนิสัยของเวไนยผู้รับธรรม และในขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ บริษัทบางพวกได้ตรัสรู้ธรรมชั้นสูงสุด บางพวกได้บรรลุมรรคผลเป็นขั้น ๆ ตามอุปนิสัยวาสนาของตน ๆ บางพวกได้ปฏิญาณตนถึงสรณะ พร้อมทั้งรับเอาธรรมไปปฏิบัติจนได้บรรลุมรรคผลในลำดับต่อ ๆ มา การปฏิบัติและตรัสรู้ธรรมเป็นขั้น ๆ ทั้งนี้เป็นไปแต่แรกเริ่มเทศนาจนวันเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ไม่ขาดวรรคขาดตอน ทั้งหญิงชาย ทั้งนักบวชและฆราวาส ถ้าจะปริมาณนับแบบสมัยปัจจุบันนี้คงมีจำนวนหลาย ๆ ล้านคน ทั้งนี้หมายถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทรงรื้อฟื้นพระองค์เดียว ไม่เกี่ยวกับสาวกองค์ใดทั้งสิ้น จึงควรแยกศาสนธรรมที่พระองค์ทรงและสั่งสอนเองไว้ในอันดับหนึ่ง
พระสาวกผู้สดับได้ตรัสรู้ตามพระองค์ ย่อมมีสมรรถภาพรองจากพระองค์ลงมาในการสั่งสอนผู้อื่น เพื่อถือเอาประโยชน์จากธรรมและความฉลาดในอุบายเทศนาวิธี ผู้สดับธรรมและถือเอาประโยชน์จากธรรมก็มีจำนวนน้อยลงกว่าพระองค์ทรงสั่งสอนโดยพระองค์เอง ฉะนั้นผู้ทรงธรรมแม้จะเข้าถึงความจริงของธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนำออกแสดงเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมแล้ว คุณภาพของธรรมจะพึงลดจำนวนลงโดยทำนองเดียวกัน ฉะนั้นศาสนธรรมที่สาวกทรงไว้และสั่งสอนผู้อื่นโดยธรรมนั้น ๆ จึงควรแยกไว้เป็นอันดับสอง
สมัยต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันผู้ทรงธรรมโดยมากมักจะมีภาชนะที่ไม่สะอาด คือจิตซึ่งเป็นที่สถิตของธรรม แปดเปื้อนแทรกซึมด้วยอาสวะทั้งหลาย แม้ธรรมจะเป็นของบริสุทธิ์ แต่เมื่ออาศัยภาชนะคือเครื่องรับไม่สะอาดแล้วก็อาจจะมัวหมองไปบ้าง เช่นเดียวกับอาหารที่พลัดตกจากมือลงพื้นที่ไม่สะอาด ก็จะกลายเป็นของปฏิกูลไม่น่ารับประทานฉะนั้น ฉะนั้นธรรมเมื่ออาศัยผู้ทรงไว้มีจิตไม่บริสุทธิ์ แม้จะประกาศผลของธรรมคือมรรคผลนิพพานแก่ส่วนรวม เพื่อถือเอาประโยชน์จากธรรม ธรรมก็จะพึงลดจำนวนคุณภาพลงตามส่วนของผู้ทรงธรรม ผู้แสดงธรรม และผู้รับธรรม ซึ่งมีภาชนะในลักษณะเช่นเดียวกัน เข้าในทำนองว่า นายช่างไม่ฉลาดรักษาเครื่องมือทำงาน และไม่ชำนาญในงาน ผลของงานจึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ฉะนั้นควรแยกศาสนธรรมของผู้ทรงธรรมในลักษณะนี้ไว้ในอันดับสาม
ดังนั้นศาสนธรรมกับการปฏิบัติธรรมในครั้งพุทธกาลกับสมัยทุกวันนี้ จึงแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ทรงธรรม ผู้ปฏิบัติธรรม และผู้รับธรรม มีภาชนะคือใจอันเดียวกัน แต่ต่างกันโดยคุณลักษณะของจิต และความสำนึกในแง่ธรรมหนักเบาต่างกัน ผลที่ได้รับจากธรรมจึงไม่ค่อยตรงกัน
ในครั้งพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าก่อนหน้าจะปรากฏพระองค์เองว่าเป็นผู้ควรแก่ธรรม และปรากฏพระองค์ในท่ามกลางพุทธบริษัทว่าเป็นศาสดาจารย์ ก็ปรากฏว่าพระอัธยาศัยของพระองค์หนักแน่นในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ ด้วยการบำเพ็ญโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ทุ่มเทกำลังความเพียร เป็นต้น ลงอย่างมองไม่เห็นใครจะสามารถทำได้อย่างพระองค์ ความพยายามทั้งนี้ก็พอมองเห็นแล้วว่า พระองค์เป็นผู้มุ่งความจริงต่อพระธรรมเพียงไร ซึ่งตรงกับความหมายของธรรมแท้ ที่จะพึงสนองผลตอบแทนในความเป็นพุทธประจักษ์ใจเกิดขึ้นเฉพาะพระองค์
สาวกของพระองค์เล่า พระพุทธเจ้าทรงดำเนินโดยวิธีใด สาวกก็มิได้ท้อถอย คงดำเนินปฏิปทา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตามเสด็จพระองค์ โดยความรื่นเริงในธรรมที่ได้สดับแล้วจากพระองค์ จนกว่าจะสำเร็จความมุ่งหวังในธรรมที่ตนจะพึงบรรลุเสียเมื่อใด เมื่อนั้นสาวกนั้น ๆ จึงจะหันหน้ามาดูโลกอย่างเต็มตาว่า ควรจะสั่งสอนบริษัทตามความสามารถของตน และตามอัธยาศัยของผู้รับและผู้ปฏิบัติธรรม ก่อนหน้าการตรัสรู้ธรรมสาวกทั้งหลายมิได้รวนเรในความพยายามและในการสั่งสอนใคร มุ่งหน้าต่อธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้โดยเฉพาะ ทั้งมิได้ถือชาติ ถือตระกูลและยศศักดิ์ซึ่งจะเป็นอุปสรรคแก่ความเพียร และอุปสรรคแก่สังคมคือหมู่สาวกด้วยกัน ตลอดพระภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อย มีความเคารพอธิปไตยแห่งกันและกันตามคุณวุฒิและอายุพรรษา ดำเนินสามีจิปฏิปทาให้งามเป็นสง่าราศีแผ่ซ่านไปทั่วสังคมและประชาชนโดยตลอด
ความเป็นสังฆโสภณาทั้งนี้ เนื่องจากใจที่บริสุทธิ์ทรงไว้ซึ่งธรรมบริสุทธิ์ จึงกลายเป็นธรรมทั้งแท่ง ดังนั้นการปฏิบัติของพระพุทธเจ้ากับสาวกจึงไหลลงรวมในธัมมาธิปไตยโดยธรรมชาติ ปราศจากความเสกสรรยกยอ ทั้ง ๆ ที่ไม่จริงตามคำกล่าวอ้าง
อนึ่งสถานที่และการบำเพ็ญธรรมเพื่อความตรัสรู้โดยถูกต้องตามมัชฌิมา พระองค์ก็ทรงสอนไว้เสร็จ และสาวกนั้น ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติได้ตามที่พระองค์ทรงชี้ไว้ทุกประการ ทั้งมรรคผลนิพพานอันจะพึงสำเร็จจากข้อปฏิบัติของผู้ทำจริง จะเป็นธรรมที่นิ่งนอนองค์อยู่ไม่ได้เลย ตรงกับบทธรรมว่า อกาลิโก ต้องปรากฏในมโนทวารแน่ และตรงกับบทธรรมว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
ฉะนั้นสมัยโน้นจึงปรากฏมีผู้ได้ดื่มรสอมตธรรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอาการที่กล่าวมานี้เป็นสำคัญ และพึงทราบบทธรรมว่า อกาลิโก แต่ผู้ปฏิบัติหนักไปในทางอ้างกาลเวลา ผลที่จะพึงได้รับจากธรรมก็จะเป็น กาลิโก ประกอบด้วยกาลอันควรเหมือนกัน จะตำหนิพระธรรม ผู้เขียนก็ไม่มีความรู้และความสามารถตำหนิว่าทำไมพระธรรมจึงเป็น อกาลิโก บ้าง เป็น กาลิโก บ้างอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะความสนใจ และการปฏิบัติของผู้ต้องการเป็นเครื่องวัดในตัวเสร็จแล้ว แม้ธรรมทุกขั้นซึ่งประกอบด้วยเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงปรุงให้เป็นเหมือนอาหารที่มีรสพอ แล้วนำออกแสดงแก่เวไนยผู้มีความมุ่งหวังอยู่แล้วเต็มใจ ก็จะพึงได้รับประโยชน์จากธรรมนั้น ๆ โดยควรแก่อุปนิสัยของเวไนยผู้รับธรรมเท่านั้น หาได้ล่วงเลยหรือซึมซาบแก่ภาชนะที่ถูกคว่ำไว้ไม่
เพราะคำว่าอกาลิโก เป็นเรื่องของธรรมโดยเฉพาะ ส่วนผู้สนใจและปฏิบัติมากน้อยเป็น กาลิโก ของผู้ต้องการ เหมือนสมบัติซึ่งมีเต็มแผ่นดินและมีอยู่ทุกกาลก็จริง แต่ผู้ต้องการสมบัติมากน้อยนั้นเป็นเรื่องของบุคคลจะพึงนำมาตามกำลังและความต้องการของตน ๆ กลายเป็นเรื่องของผู้ต้องการไป
ฉะนั้นธรรมของพระพุทธเจ้าจะปรากฏเด่นชัดแก่ผู้สนใจและต้องการ จึงสำคัญไปตามรายบุคคล ทั้งผู้ทรงธรรมนำมาแสดงและผู้รับธรรมจะพึงปฏิบัติตนให้ตรงกับความหมายของธรรม ผลที่ได้รับจะเป็นที่พอใจนับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ธรรมที่จะพึงให้ผลแก่ผู้ปฏิบัตินั้นๆ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องที่ตรงไหน นอกจากความสนใจและการปฏิบัติของผู้ต้องการเป็นรายๆ ไปเท่านั้น จะเป็นไปไม่สม่ำเสมอตามความหมายของธรรม จึงเกิดมีปัญหาขึ้นในสังคมเกี่ยวแก่มรรคผลอันผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับ ในครั้งพุทธกาลกับสมัยปัจจุบันว่าไม่สม่ำเสมอและไม่มีจำนวนมากเหมือนครั้งพุทธกาล ความเป็นทั้งนี้อาจตีความหมายได้หลายนัย คือ
๑.ผู้สามารถปฏิบัติและบำเพ็ญกิจของตนให้รู้ธรรมทางใจตามพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งจะมาเป็นผู้นำของบริษัทมีจำนวนน้อย
๒.ความสนใจมีกำลังมาก แต่เนื่องจากขาดข้อที่๑.เป็นปัจจัยเครื่องหนุนให้มีกำลังใจ และชี้ทางที่ถูกต้องให้ผู้ศึกษาธรรมได้ปฏิบัติกิจของตนตามแนวทางที่ถูกนั้นโดย อุชุปฏิบัติ ไม่คดเลี้ยวจากแนวทาง จึงทำให้เขวหลักธรรม ไม่ได้ผลเท่าที่ควรแก่ข้อปฏิบัติ
๓.โรคนี้ไม่สนใจในหยูกยาเสียเอง ปล่อยใจให้ลอยลมไปเลย แล้วแต่จะตกถิ่นไหน ๆ เป็นพอใจทั้งนั้น ขอแต่ได้ทำ ได้พูด และได้คิด อย่างอิสรเสรี จะดีหรือชั่วไม่คำนึง เรียกว่าหลับทั้งเป็น (ทั้งลืมตา)
๔.ไม่ยอมเชื่อในกรรมดีกรรมชั่วที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าเป็นของมีประจำตัว ทั้งๆ ที่ได้รับสุขรับทุกข์อันเกิดเป็นผลขึ้นมาจากกรรมดีกรรมชั่วตลอดเวลาอกาลิโก
๕.ความสำคัญว่าตายแล้วสูญหมดโดยประการทั้งปวง ไม่มีเชื้ออันใดที่จะเพาะให้เกิดขึ้นมาเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นต้นได้ ตลอดดี ชั่ว บุญ บาป ที่เป็นวิบาก คือผลซึ่งเกิดจากกรรมดีกรรมชั่ว สิ่งเหล่านี้ก็ลอยลมไปเลย ไม่มีใครเป็นเจ้าของรับผิดชอบ เพราะกำเนิดความเกิดอีกไม่มี ทั้งๆ ที่จิตกำลังเพาะตัวจากอารมณ์เครื่องยั่วยวนอยู่ทุกขณะ และแสดงความติดต่อพอใจในอารมณ์ที่เป็นสื่อสารชักชวนจิตให้เพลินติดอยู่ทุกเวลา แต่จิตยังมีข้อผูกพันซึ่งปล่อยวางไม่ได้ จึงแสดงเพียงอาการฟักตัวกับอารมณ์นั้น ๆ ไว้เท่านั้น เมื่อหมดข้อผูกพันคือตายเมื่อไร จิตจะพึงติดตามอารมณ์อันเป็นสื่อสารก่อให้เกิดทันที
ในข้อนี้จิตที่บริสุทธิ์แล้วไม่ยอมเพาะตัวกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือชั่ว ไม่พัวพันและซึมซาบถึงใจได้ ไม่คุ้นกับอารมณ์ใดๆ แม้แต่น้อย เป็นการตัดสะพานจากอารมณ์ซึ่งเคยเป็นมิตรประดิษฐ์ใจให้หลงเพลิน อันเป็นแนวทางก่อให้เกิดอีกอยู่โดยเฉพาะๆ ในขณะที่สัมผัส
๖.ความเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างเอาแน่ลงทางใดไม่ได้ พอเป็นเรื่องรำคาญใจของจ่านรกผู้ถือบัญชีจดทะเบียนของสัตว์ผู้ทำดีทำชั่ว ไม่ได้ปล่อยมือและหลับนอน
๗.ความเชื่อในทำนองข้อ ๖.เวลาทำบุญสุนทาน ต้องการเกียรติยศให้ปรากฏแก่โลก เป็นส่วนมากกว่าต้องการกุศลเครื่องชำระมลทินในใจ ให้หนักไปทางพิธีรีตองต่างๆ ตามความนิยมที่ตนชอบ มิได้คำนึงถึงความหมายของธรรมและศาสดาผู้เป็นเจ้าพิธี ในระเบียบการที่ดีอันจะยังทำความดีให้ได้ผลเป็นอยัมภทันตา ทั้งภายในภายนอกเท่าที่ควรจะเป็นไปได้ คำว่าระเบียบ พระธรรมวินัยเป็นระเบียบที่เต็มไปด้วยเหตุผลและความหมาย ฉะนั้นผู้นำศาสนาออกมาสู่ตลาดโลก จึงจัดว่าเป็นผู้นำระเบียบมาพร้อมเสร็จ
๘.การศึกษาและประพฤติธรรมทั้งหลายเป็นไปเพื่อเข้าฝ่ายตัวเสมอ ไม่ยอมแก้ไขลัทธินิสัยซึ่งเป็นข้าศึกแก่ศาสนธรรม ให้เป็นการเข้าฝ่ายธรรม
การกล่าวอุปสรรคแก่การบรรลุมรรคผลนิพพานในครั้งพุทธกาลกับสมัยทุกวันนี้ รวมเป็น ๘ ข้อ ว่ามีความแตกต่างกัน ได้กล่าวไว้พอประมาณ เพราะศาสนธรรมจากครั้งพุทธกาลมาจนถึงสมัยนี้พระองค์วางไว้เป็นแบบเดียว มิได้แยกไว้ตามสมัยนั้น ๆ พอที่ผู้ปฏิบัติจะได้รับผลเป็นอย่างอื่นไปเสีย อันเป็นเหตุจะให้เกิดการทุ่มเถียงกันในระหว่างพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติศาสนธรรมแห่งเดียวกัน ซึ่งพอที่จะตำหนิพระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าลำเอียงในการให้ผล ทั้งนี้ไม่ว่าสมัยใดๆ ถ้าลงปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแนวทางแห่งศาสนธรรมแล้ว พระธรรมไม่เป็นทาสของผู้ใดพอที่จะถืออาสนะวิ่งตามรับรองผู้ทำผิด เพราะความผิดกับความถูกไม่ใช่ญาติสนิทมิตรสหายหรือศัตรูคู่เวรของผู้ใด แต่เป็นที่ผู้ทำผิดกับทำถูกจะประดิษฐ์ขึ้นมาได้จากตัวเองทั้งนั้น เพราะพระธรรมไม่เป็นรูปร่างกลางตัวพอที่จะนิรมิตเพศเป็นอินทร์พรหมยมยักษ์ ดักใส่ร้ายป้ายความดีแก่ผู้ใด และไม่มีพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมบทใดจะมาทำโซ่ตีตรวนใส่ขาคน หากเป็นโทษคือความผิดนิรมิตใส่ตัวเอง
แม้การแสวงหาธรรมและการปฏิบัติธรรม หากว่าเป็นไปตามความหมายของธรรมแล้ว ปัญหาในเรื่องมรรคผลก็คงเป็นความสงบลงได้อย่างง่ายดาย เหตุที่จะทำให้ปัญหาทั้งนี้ลุกลามขึ้นในใจและกระจายออกไปสู่สังคม ก็เพราะความดูแต่ตัวผลโดยถ่ายเดียว มิได้มองดูตัวเหตุคือข้อปฏิบัติที่ถูกทางอันเป็นบ่อเกิดแห่งตัวผล ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จและตัดปัญหาภายในใจเสียได้ เมื่อเป็นผู้หนักในเหตุอันเป็นบ่อเกิดแห่งผลทุกประเภทแล้ว ปฏิบัติด้วยศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร เป็นต้น ไม่ท้อถอย ผลคือความสุขกายสบายใจ เป็นสมบัติสำหรับตัวในทิฏฐธรรม และสัมปรายภพ สมกับคำว่าอกาลิโก ซึ่งเป็นเครื่องรองรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีอยู่ตลอดกาล
อนึ่งความหิวโหยย่อมเป็นเหตุให้บ่นคร่ำครวญไปต่างๆ ไม่มีสิ้นสุด แต่เมื่อหมดความหิวโหยแล้ว ความรำคาญใจอันเป็นผลก็สิ้นสุดลงเอง เรื่องธรรมซึ่งเป็นอาหารที่ดีเลิศของใจ เมื่อสาธุชนได้ดื่มแล้ว ความหิวโหยซึ่งเกิดจากความสงสัยนานาชนิดก็จะดับลงทันที โดยไม่ต้องแต่งทนายขึ้นฟ้องร้องคดีระหว่างใจกับความสงสัยในศาลใดๆ จะเป็นการเลิกแล้วจากการวินิจฉัยและตัดสินด้วยตนเอง ตรงกับคำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ แท้แล
         
ศาสนธรรมย่อ แต่ยังคงเส้นคงวาตามเดิม

        ในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านย่นคำลงไว้พอประมาณ แต่ทรงคุณภาพตามเดิม บาลีจะไม่ยกมา ผู้ปรารถนาพึงดูในเอกเทศสวดมนต์เถิด
ความอดกลั้นขันติเป็นธรรมเครื่องแผดเผากิเลสได้เป็นอย่างดี ๑
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระนิพพานว่าเยี่ยมกว่าสิ่งใด ๆ ๑
นักบวชเป็นผู้เว้นจากการฆ่าและการเบียดเบียน ถ้าประกอบกิจเช่นนั้นไม่เรียกว่าผู้สงบ ๑
การไม่ทำบาปทั้งหลายทุกประเภท ๑
การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
            การยังจิตของตนให้ผ่องใส ๑
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่โดยย่อ
การไม่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ๑
การไม่ฆ่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ๑
การสำรวมตนในแนวทางให้เกิดความหลุดพ้น ๑ (การสำรวมในพระปาฏิโมกข์)
ความรู้จักประมาณพอเป็นมัชฌิมาในการบริโภคใช้สอย ๑
ความเป็นผู้มีที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑
การชำระจิตของตนให้ยิ่ง หรืออยู่เหนือสิ่งแวดล้อม ๑
นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์แต่โดยย่อ
ธรรมเครื่องประดับความงามสำหรับ กาย วาจา  ใจ ของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งไม่จำกัดเพศและวัยว่าหญิงชายและเด็กหนุ่มหรือแก่ปานกลาง เมื่อสวมเครื่องประดับคือธรรมเข้าแล้ว งามทั้งนั้น ความงามในเครื่องประดับคือธรรมนี้ ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลสให้ลุ่มหลงเหมือนความงามในเครื่องประดับฝ่ายตรงกันข้าม และยังกลับถอดถอนกิเลสได้ด้วยเครื่องประดับทั้งนี้ด้วย นักปราชญ์ผู้มีปัญญาลึกซึ้งจึงชอบประดับตัวด้วยธรรม เพราะประดับเข้าแล้วงามไม่จืดจางตลอดอายุขัย งามในชาตินี้แลชาติหน้า คือเบื้องต้นแห่งวัยก็งาม ท่ามกลางแห่งวัยก็งาม และที่สุดแห่งวัยก็งาม
อนึ่งเบื้องต้นแห่งการบำเพ็ญจิตเพื่อการหลุดพ้นก็งาม ท่ามกลางแห่งจิตที่ได้ดำเนินในทางมรรคก็งาม และที่สุดแห่งจิตที่ได้ดำเนินทางมรรคจนได้บรรลุที่มุ่งหวังแล้วก็งาม จิตได้มีความเป็นอยู่อย่างอิสรเสรีโดยปราศจากกิเลสเครื่องก่อกวน มีความบริสุทธิ์อยู่โดยเฉพาะหน้าแล้วก็งาม แม้ที่สุดขันธ์ทั้งหลายจะพึงแตกทำลายลงสู่ธาตุเดิม คือดิน น้ำ ลม ไฟไปแล้ว ใจที่ยังเหลืออยู่เป็นธรรมทั้งแท่งก็งาม และงามไปตลอดอนันตกาล นอกจากนั้นยังไว้ลวดลายคือความงามแก่สาธุชนผู้สนใจในความงามทั้งนี้อีก จนกลายเป็นความงามไม่มีที่สิ้นสุด มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น พระองค์งามลึกซึ้งในทางธรรม แม้ปรินิพพานไปแล้วความงามของท่านยังคงอยู่คู่ฟ้าดินสลาย ไม่กลับกลายเสื่อมสูญไปเลย และยังเป็นที่ดูดดื่มใจของพุทธบริษัทตลอดมา ความงามในธรรมาลังการนี้ แผ่ไปทุกทิศทุกทาง เบื้องบนเบื้องล่างและสถานกลาง เป็นที่เคารพรักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอดสัตว์เขายังรู้จักเคารพรักในท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องประดับ
ธรรมาลังการมีมาก จะเป็นการฟั่นเฝือเหลือวิสัยของพุทธบริษัทผู้มีกำลังน้อย จะพึงประดับธรรมาลังการให้พอดีแก่วิสัยของตน ๆ พระองค์จึงทรงย่นย่อลงตามส่วนเพื่อพอดีแก่กำลังของผู้ทรงธรรมาลังการ แต่ยังคงเส้นคงวาอยู่ตามเดิม ไม่บกพร่องในส่วนคุณภาพที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับตามนัย ความแปลออกจากภาษาย่อมีอยู่ว่า ความอดกลั้นขันตีต่อสิ่งที่มากระทบ ซึ่งเป็นเหตุยั่วโทสะให้แผ่พังพานหรือรัศมีออกเพื่อต่อสู้เอาชัยชนะ โดยวาทะหรือทุบตีต่าง ๆ การอดกลั้นเหตุทั้งนี้ด้วยขันตี จึงจัดว่าเป็นธรรมเครื่องแผดเผากิเลสได้เป็นอย่างดี
บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระนิพพานว่าเป็นธรรมยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ในไตรโลกธาตุ ทั้งนี้เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ยังไม่คงเส้นคงวา มีความแปรปรวนประจำตน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนรับประทานข้าวสุกและปลาเนื้อทั้งแกลบรำ และทั้งก้างทั้งกระดูก เป็นต้น ฉะนั้นแม้ความสุขก็เจือด้วยทุกข์ ไม่สุขล้วน เกิดแล้วกลับตายได้แล้วกลับสูญหาย ดีแล้วกลับชั่ว จะถือเอาจริงเอาจังกับสิ่งใด ๆ แท้ก็ไม่ได้ พลอยจะหลุดมือตกหายไปทุกเวลา ความเป็นทั้งนี้จึงเป็นเหตุให้นอนใจไม่ได้ เหมือนอยู่ใกล้อสรพิษ คอยจะขบกัดจิกต่อยอยู่เสมอ
พระนิพพาน ถ้าจะพูดถึงความดับทุกข์ก็ดับสนิท ไม่มีทุกข์เจือปน พูดถึงสุขก็สุขล้วน ๆ ไม่มีข้าวสารแกลบรำคือทุกข์เจือปน ไม่มีสมมุติใด ๆ เข้าถึง แม้ท่านได้อนุปาทิเสสนิพพานแล้ว ถึงจะมี อายตนะภายใน คือตา หู เป็นต้น เป็นบันไดสำหรับรับแขกคืออารมณ์ภายนอก ซึ่งเกิดจากอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้นอยู่ บรรดาแขกคืออารมณ์นั้น ๆ ก็ไม่สามารถจะยังจิตนิพพานของท่านให้หวั่นไหวตามได้ แขกคงเป็นแขก เจ้าถิ่นคงเป็นเจ้าถิ่นอยู่ตามเดิม ไม่ระคนกัน ซึ่งพอที่จะให้หลงตาม เมื่อหยุดจากการรับแขกแล้วมิได้หลงอารมณ์ของแขกที่ขาดไป มีความเป็นอยู่อย่างอิสรเสรีโดยธรรมชาติ ปราศจากเครื่องยั่วยวนใดๆ ทั้งสิ้น ความเป็นอยู่ทั้งนี้มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด หากเป็นธรรมเป็นเอง ปราศจากเครื่องปรุงแต่งและเสกสรร ฉะนั้นนิพพานธรรมจึงเป็นธรรมที่ยอดยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ตามนัยที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญไว้
นักบวชเว้นจากการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์แล้ว จะทำกิจเช่นนั้นอีก ไม่เรียกว่าผู้สงบ นอกจากการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนแล้ว ยังต้องมีเมตตาพรหมวิหาร ในมนุษย์และสัตว์ทั่วไปเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามในศาสนาประจำเพศของตน
การไม่ทำบาปทั้งปวงทุกประเภท คำว่า บาป คือความเศร้าหมอง เป็นผลเดือดร้อนแก่ผู้ทำ และเป็นเครื่องถ่วงตนลงในความเลวทรามเสมอ ท่านจึงมิให้ทำกรรมประเภทนี้ด้วยทั้งกาย วาจา ใจ
การยังกุศลให้ถึงพร้อม คำว่า กุศล คือความฉลาด ฉลาดในการทำ เลือกเฟ้นทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม และฉลาดในศิลปวิทยาต่าง ๆ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ฉลาดพูดในสิ่งที่ควรพูด ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ อันเป็นเสน่ห์ความดึงดูดใจของผู้ฟังให้รื่นเริงไปในทางที่ดีและเคารพรัก เป็นศรีศักดิ์ในการพูด ทั้งเป็นรสชาติอันดีแก่ผู้ฟัง ยังกันและกันให้รื่นเริง และฉลาดในการคิดประดิษฐ์อารมณ์เครื่องฟอกจิต และฉลาดเลือกสรรมิตรภายในใจ อารมณ์อันใดเป็นข้าศึกแก่กุศลรีบแก้ไขไม่รีรอ นี้แลท่านเรียกว่าความฉลาด คนที่มีความฉลาดฝังใจ แม้จะสร้างโลกก็ไม่กระเทือนถ้ำ แม้จะสร้างธรรมก็ไม่กระเทือนใคร ค่อยเป็นค่อยไปด้วยอุบายความฉลาด และคนเราจะเป็นนักปราชญ์ได้ต้องอาศัยอุบายอันฉลาดคือปัญญา

การชำระจิตของตนให้ผ่องใส นี้ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ขอยุติไว้

คาถาย่อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ การสำรวมในแนวทางที่จะให้เกิดความหลุดพ้น สิ่งที่จะพึงสำรวมคือขวากหนาม ศาสนโวหารเรียกว่ากิเลส กิเลสทั้งนี้เป็นภัยสำหรับผู้กำลังดำเนินมรรค คือข้อปฏิบัติ ประหนึ่งขวากหนามหรือสัตว์ร้าย ซึ่งซุ่มซ่อนอยู่ในระหว่างทาง ผู้ปฏิบัติเพื่อโมกขธรรม จึงควรระวังสิ่งเหล่านี้ให้มาก ศีล ๕ ก็ดี ๘ ก็ดี ๑๐ ก็ดี ๒๒๗ ก็ดี หรืออนุบัญญัติที่ทรงเพิ่มเติมทีหลัง ประหนึ่งว่ารั้วกั้นทางความชั่วซึ่งจะรั่วไหลออกทางทวาร พระองค์ทรงวางแนวทางที่ถูกคือธรรมไว้เป็นเครื่องดำเนิน ทรงกั้นรั้วหนามไว้ ๒ ฟากทางคือพระวินัย การที่พระองค์ทรงวางแนวทางไว้ทั้งนี้ เพื่อความสวัสดีต่อเวไนยโดยถ่ายเดียว มิได้หวังเครื่องตอบแทนแม้แต่น้อย
ความรู้จักประมาณในมัชฌิมาที่จะบริโภคใช้สอยแต่พอดีงามในปัจจัยทั้งหลาย คำว่าประมาณ หรือมัชฌิมา มีความหมายกว้างขวาง คือกินอยู่หลับนอนก็ให้เป็นมัชฌิมา การไปมาก้าวหน้าถอยกลับก็ให้เป็นมัชฌิมาพองาม ปฏิปทาข้อปฏิบัติทุกอย่างก็ให้เป็นมัชฌิมา ความรู้ความเห็นก็ให้เป็นมัชฌิมา การทำ การพูด การคิด ทุกกิริยาที่เคลื่อนไหวก็ให้เป็นมัชฌิมา คือความพอดีพองาม แม้ที่สุดความบริสุทธิ์ของจิตก็ต้องเป็นมัชฌิมา คือรู้กลาง ๆ ซึ่งสัมปยุตด้วยญาณ แต่ไม่ใช่กลางทาง คือมรรค สรุปความเรียกว่า กลางสมมุติ กับวิมุตติ สมมุติก็รู้เท่า วิมุตติก็รู้ทัน ปล่อยวางทั้งสองเงื่อนไว้ตามเป็นจริง เพราะศาสนธรรมเป็นมัชฌิมา ไม่เข้าใครออกใคร ผู้ปฏิบัติและรู้ธรรมแล้วตามเป็นจริง ยังจะเหยียบย่ำ อนัตตา ลงและยก อัตตาขึ้น ซึ่งเป็นการเข้าข้างโน้นออกข้างนี้อยู่ จะจัดว่ารู้รอบคอบในธรรมอย่างไรได้ เพราะส่วนที่ตนสำคัญว่าเป็นอัตตายังถือไว้อยู่ ก็เรียกว่ารู้โลกแล้วกลับหลงธรรมและถือธรรมเท่านั้น
คนทั้งโลกข้ามแม่น้ำด้วยเรือ ขึ้นถึงฝั่งซึ่งเป็นที่ปลอดภัยแล้วปล่อยเรือไว้ในลำแม่น้ำ เพราะเรือเป็นสิ่งอาศัยชั่วคราวในเวลาเดินทางมิได้แบกหามไปด้วย อนัตตาเปรียบเหมือนลูกคลื่นหรือสัตว์ร้ายในน้ำ อัตตาเปรียบเหมือนเรือซึ่งขับขี่ข้ามแม่น้ำในเวลาเดินทาง เมื่อถึงฝั่งซึ่งเป็นที่ปลอดภัยแล้ว อัตตาซึ่งเปรียบเหมือนเรือเป็นธรรมอาศัยชั่วคราว จะพึงเป็นธรรมที่ควรปล่อยวางโดยแท้ ไม่ควรยึดถือเอาไว้โดยประการทั้งปวง จิตทรงความเป็นยถาภูตญาณทัสสนะตลอดกาล คือรู้เห็นตามเป็นจริง ทั้งธรรมฝ่ายอนัตตา ทั้งธรรมฝ่ายอัตตา ทั้งพุทธธรรม ธรรมคือผู้รู้ ไม่มีช่องโหว่ไว้ซึ่งพอที่จะให้เกิดความลุ่มหลงและยึดถือแม้แต่น้อย
เรียกว่า มัชฌิมา โดยธรรมชาติ คือเป็นกลางระหว่างธรรมทั้งหลายกับจิต ระหว่างจิตกับธรรมทั้งหลาย และระหว่างจิตกับจิตอีกวาระหนึ่งเป็นบทสุดท้าย ขณะรากเหง้าเค้ามูลของวัฏจักรเริ่มถอนตัวออกจากใจ เปลี่ยนบทบาทพลิกสันมาเป็นคม จากมีดเล่มเดียวซึ่งมีทั้งสันทั้งคม กลายเป็นจิตที่ควรแก่ตนเองและธรรมทั้งหลาย มิได้ถือในสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นศัตรูคู่มิตร เมื่อจิตหมดความเป็นพิษในตัวเอง ไม่ตื่นเงาซึ่งเกิดกับตัวเองมาแต่กาลไหน ๆ พร้อมกับความรู้เท่าตัวเองว่าเป็นความจริงเสมอธรรมใด ๆ แล้ว สภาวธรรมใด ๆ ทุกส่วน ทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งภายในภายนอก เลยกลายเป็นสภาพปกติ หรือเอนอ่อนไปตาม ๆ กันหมด ไม่ปรากฏธรรมทั้งนี้แสดงตัวเป็นศัตรูคู่มิตร หรือแสดงตัวเป็นเจ้าบุญเจ้าบาปของผู้ใด คงเป็นปกติธรรมดาแต่เริ่มตั้งแผ่นดินมา และจะเป็นสภาวะปกติอย่างนี้ไปตลอดอนันตกาล
เหตุที่จะเสกสรรธรรมทั้งนี้ขึ้นให้เป็นต่าง ๆ ก็เพราะความสำคัญผิดของจิตแต่ผู้เดียว เมื่อจิตเกิดความรู้แจ้งชัดขึ้นในตัวเองแล้ว สภาวธรรมทั้งหลายซึ่งเคยถูกตำหนิติชมจากจิตมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้สภาวธรรมเหล่านี้ก็มิได้เปลี่ยนฉากเป็นแนวรบ กลับเข้ามาตำหนิติชมหรือโจมตีจิตแต่อย่างใด ต่างก็คงความปกติไว้ตามสภาพ จากนั้นมาจิตจะพึงเห็นโทษในตัวเองซึ่งได้เคยตำหนิติชมในสภาวธรรมทั้งหลายให้เป็นต่าง ๆ ตามที่อารมณ์ของจิตต้องการ เช่นเดียวกับคนไข้จะพึงเห็นโทษของตนในเวลาหายจากไข้แล้ว ซึ่งได้เคยกระทำความผิดพลาดล่วงเกินต่อหมอในเวลาที่ตนกำลังป่วยอยู่ ทั้ง ๆ ที่หมอมิได้ถือสีถือสาอะไรกับคนไข้ฉะนั้น
ความเป็นผู้มีที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด ปราศจากความระคนกับหมู่ชนทั้งนักบวชและฆราวาส ความสงัดเป็นปัจจัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างดียิ่ง จะพึงเห็นพระพุทธเจ้ากับพระสาวกทั้งหลายได้ดำเนินมาเป็นตัวอย่าง เวลาพระองค์กับพระสาวกกำลังบำเพ็ญสมณธรรม ปรากฏว่าชอบเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมในที่เช่นนั้นเป็นปกตินิสัย การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพานของพระองค์ในป่าทั้งนั้น แม้ที่สุดจากองค์ท่านมาก็สั่งสอนสาวกให้ยินดีในป่า เมื่อมีความหวาดเสียวเพราะความอยู่เปลี่ยวเกิดขึ้น ก็ทรงแนะให้ยกธงสามสี คือ อิติปิโส ฯลฯ สฺวากฺขาโต ฯลฯ  สุปฏิปนฺโน ฯลฯ ขึ้นเป็นเครื่องปลอบใจ ให้มีความอาจหาญและร่าเริงต่อความเพียรจะเห็นได้ในธชัคคสูตร
เพราะในที่เช่นนั้นเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทอยู่ทุกเวลา สามารถจะยังปัญญาให้เกิดขึ้นได้ในขณะที่สัมผัส เพราะปราศจากเครื่องก่อกวน และส่งเสริมกิเลสที่มีอยู่ภายในใจให้ฟุ้งตัวขึ้น สิ่งที่จะให้ปลงปัญญาก็คือ ความอยู่ผู้เดียว เปลี่ยวกายเปลี่ยวจิต ทั้งไม่มองเห็นใครเป็นที่พึ่งในเมื่ออันตรายนานาชนิดเกิดขึ้น เพราะที่เช่นนั้นโดยมากจะมีแต่เสียงนกเสียงสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์ร้าย มีเสือ เป็นต้น และสัตว์ธรรมดาซึ่งมีอยู่มากตามป่า สัตว์เหล่านี้ชอบร้องเวลากลางคืนในยามสงัด ๆ หากเป็นผู้หวังนิพพานสมบัติจริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยปลุกหรือเตือนสติปัญญาและความเพียรตลอดเวลา เพราะความหวาดกลัวบังคับ จิตปราศจากที่พึ่งภายนอก จะต้องย้อนกลับเข้ามาภายใน น้อมพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง สละชีวิตเลือดเนื้อทั้งหมดถวายไว้กับพระรัตนตรัย ประคองใจด้วยความเพียร มีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน
เมื่อใจได้ถูกเครื่องปลุกประสาทอยู่ทำนองนี้ ก็ยิ่งทวีความเพียรไม่หยุดยั้ง ปัญญาก็นับวันจะไหวตัวเกิดขึ้น ความอาจหาญที่จะทำจิตให้พ้นทุกข์ก็ยิ่งมีกำลัง สิ่งแวดล้อมซึ่งเคยถือว่าเป็นศัตรูคู่ประหารชีวิตที่มีอยู่รอบ ๆ บริเวณ ก็เลยกลายเป็นมิตรมิได้หวั่นไหว เพราะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องฟอกจิตและลับปัญญาให้คมกล้า จิตเลยแปรรูปความเห็นเสียใหม่ว่า ที่เช่นนั้นกลับเต็มไปด้วยธรรมกถึก คือนักเทศน์เอก สอนให้ตั้งสติเจริญปัญญาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมีศรัทธาเชื่อที่เช่นนั้นว่าเป็นที่เพาะสันติธรรมได้จริงอย่างพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทุกประการ การอยู่และประกอบความเพียรในที่เช่นนั้นก็เลยกลายเป็นความสะดวกกายและสบายใจไปตาม ๆ กันหมด จนสามารถถอดถอนกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ณ สถานที่เช่นนั้น ความเป็นทั้งนี้ผู้เขียนเคยอยู่และเคยปรากฏสิ่งแวดล้อมทำนองนี้มาแล้วมากราย แต่มิได้หมายความว่าได้รู้ธรรมในที่เช่นนั้น เป็นแต่เล่าเรื่องหยาบ ๆ ซึ่งเคยปรากฏให้ท่านผู้อ่านฟังเพื่อแก้ง่วงเล็กน้อย
การอยู่ในที่เปลี่ยวๆ และสงัดเช่นนั้น จะพึงประคองความเพียรง่ายและดีกว่าที่ทั้งหลาย ซึ่งตรงกันข้ามกับที่เช่นนั้น เพราะการอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายทุกประเภท ย่อมเป็นเหตุให้ตื่นตัวอยู่เสมอ จะประมาทนอนใจในข้อวัตรซึ่งเป็นกิจประจำวันไม่ได้ จะปรากฏความแปลกหูแปลกตาขึ้นในเวลาใดก็ได้ แล้วแต่กรณีที่ทำผิดจะพึงบันดาลหรือเป็นปัจจัยยังเหตุนั้น ๆ ให้เกิด เหตุทั้งนี้ผู้เขียนไม่กล้ารับรองว่าจะเป็นเหตุเกิดขึ้นจากอะไร ในตำนานกล่าวสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของใจจะพึงรู้เห็น ว่าเป็นของมีอยู่ในไตรโลกธาตุอย่างสมบูรณ์ จึงขอเมธีชนพิจารณาด้วยวิจารณญาณเอาเอง
การอยู่ในที่เปลี่ยวเช่นนั้น ไม่มีรูป เสียง และสิ่งอื่นๆ จะมารบกวนและยั่วยวนจิตให้กิเลสภายในฟุ้ง แม้ว่ารูปจะมีทั่วไปก็จริง แต่ที่เช่นนั้นจะมีแต่รูปต้นไม้ ภูเขา รูปนก หรือรูปปลา ซึ่งอยู่ตามลำธารโดยมาก ไม่มีรูปหญิงรูปชาย ตลอดสัตว์พาหนะ และพัสดุสิ่งของใด ๆ จะมายั่วยวนให้หลงตาม แม้ว่าเสียงเป็นต้น ก็จะมีแต่เสียงนกและเสียงสัตว์ต่าง ๆ ร้องตามภาษาของเขา ซึ่งไม่พอจะให้เกิดความยินดียินร้ายได้
นอกจากสิ่งแวดล้อมกลายเป็นมิตรแล้ว การหลับนอนก็ตรงเวลาไม่คลาดเคลื่อน นอนน้อยกินน้อย และคิดไปในทางสั่งสมกิเลสก็น้อยกว่าอยู่ในที่ธรรมดาสามัญ ผู้มุ่งต่อสันติธรรมจริง ๆ จะเห็นที่เช่นนั้นเป็นสมรภูมิในการรบกิเลสได้เป็นอย่างดีเลิศ
การที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้อยู่ป่า ก็มีพระพุทธประสงค์เพื่อการประกอบความเพียรโดยสะดวก จิตเมื่อถูกธรรมกถึกนานาชนิดช่วยพุทธองค์สั่งสอน ก็จะเป็นการช่วยพุทธภาระไปในตัว ทั้งจะยังประโยชน์คือสันติธรรมให้เกิดมีในใจของโยคาวจรนั้น ๆ ด้วย
แต่การอยู่ป่าจะถือว่าดีเสียทีเดียวก็ผิด เพราะสัตว์นานาชนิดซึ่งบางจำพวกอาศัยป่าเป็นนิจก็ไม่เห็นวิเศษ ทั้งนี้เพราะอยู่ตามประสาสัตว์ไม่รู้จักดีชั่วและความหมายอะไร ทำความดีอยู่ไหนก็ดี แต่หนักเบานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ แม้เป็นแผ่นดินอย่างเดียวกันย่อมมีคุณค่าต่าง ๆ กันฉะนั้น ข้อสำคัญก็คือการทำ แต่อาศัยปัจจัยภายนอกเป็นเครื่องหนุนให้งานและผลงานนั้น ๆ ก้าวหน้าตามใจหวัง เพราะภายนอกกับภายในต้องอาศัยกัน สถานที่จึงเป็นสิ่งที่เทิดความเพียร ซึ่งจัดเข้าในสัปปายะข้อหนึ่งของนักปฏิบัติ จะพึงเลือกหาความสะดวกเพื่อสมณธรรม
แต่ว่าผู้ปฏิบัติแบบนกค้างคาว คือมีทั้งหูมีทั้งปีก จะว่าเป็นนกก็ไม่เชิง จะว่าเป็นหนูก็ไม่ใช่ จะไปอยู่ในป่าเปลี่ยวซึ่งประกอบไปด้วยสัตว์ร้ายเช่นนั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะการหึงหวงในชีวิตเป็นเหตุให้ใจแน่วแน่ลงในธรรมได้ยาก ยิ่งสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตามป่าเที่ยวหากินในเวลากลางคืน เขาเที่ยวมารอบ ๆ บริเวณใกล้ ๆ แล้วก็สำคัญแต่ว่ามีอะไร จะมาทำอะไร ตอนนี้อาจจะกลายเป็นขรัวตาหาญขึ้นก็ได้
ตามนิทานสมัยปัจจุบันมีอยู่ว่า ขรัวตาองค์หนึ่งชื่อขรัวตาหาญ ท่านองค์นี้เพิ่งบวชใหม่ เรียน ปฏิสังขาโยฯ ก็ยังไม่จบ อยากไปเที่ยวทำกรรมฐานเป็นกำลัง ไปลาอาจารย์ ๆ ห้ามไม่ให้ไป เพราะเห็นว่าบวชใหม่ แม้จะแก่อายุก็จริง แต่คุณธรรมเพิ่งจะเริ่มเรียนปฏิสังขาโยฯ ก็ไม่ฟังคำอาจารย์ พระเณรห้ามก็ไม่ฟัง เมื่ออาจารย์ไม่ยอมให้ไปจะสึกวันพรุ่งนี้แน่ ไม่ยอมอยู่ เพราะอยู่ไม่ได้ประโยชน์ เที่ยวโปรดสัตว์โปรดเสือตามป่า เที่ยวบิณฑบาตกับเทวดาตามภูเขาดีกว่าอยู่อย่างนี้ พูดยืนคำแบบกระต่ายขาเดียว ใครจะห้ามก็ไม่ฟัง อาจารย์หมดท่าเลยปล่อยตามเรื่อง
เมื่ออาจารย์อนุญาตแล้วก็เตรียมตัวและเตรียมบริขาร กลด มุ้ง ออกเดินทางไปถึงบ้านหนึ่งใกล้ภูเขา บ้านนั้นเป็นบ้านป่ารกชัฏเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด พอไปถึงก็บอกกับโยมหัวหน้าบ้านให้บอกกันพาท่านไปหาที่นั่งทำกรรมฐาน เขาพาไปดูที่ไหนก็ไม่ชอบ จึงพาท่านผ่านไปในที่แห่งหนึ่ง ที่นั้นทั้งป่ารกทั้งใกล้ภูเขา ขรัวตาหาญเลยชอบที่เช่นนั้นเข้า ยืนยันว่าจะอยู่ในที่เช่นนั้น ทำนองเดียวกับพูดต่ออาจารย์ ใครห้ามก็ไม่ยอมฟังเสียง
เขาบอกว่าที่นี่อยู่ไม่ได้แน่ท่านตา เพราะเมื่อวานนี้เสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่ง ความยาวของลำตัวมันยาวประมาณ ๘ ศอก นายพรานเขาเห็นมันบ่อยครั้ง กัดควายตัวหนึ่งแล้วกินอยู่ในป่านี้ ใคร ๆ ในบ้านกลัวมัน ไม่กล้ามาเอาเนื้อไปรับประทานเลย เพราะมันหวงซากควายเต็มที่ และเสือโคร่งใหญ่ตัวนี้ดุมากด้วย ขอนิมนต์ท่านตาไปอยู่ที่อื่นดีกว่า พวกผมเกรงว่าจะไม่ตลอดคืน เพราะเสือหวงซากนี้ร้ายกาจมากนะท่านตา ปล่อยให้เขากินซากควายหมดเสียก่อน เขาหนีไปที่อื่นแล้วค่อยกลับมาอยู่ พวกผมจะจัดให้ไม่ขัดข้องอะไร เวลานี้เกรงว่าเขาจะมารบกวนท่านตาไม่มีเวลาหลับนอน และเสือตัวนี้ไม่ค่อยจะกลัวและหนีคนด้วย ร้ายจริง ๆ ท่านตา เขาพร้อมกันวิงวอนด้วยความสงสาร
ท่านตาไม่ฟังเสียงเลย พูดยืนตัวอยู่คำเดียวเท่านั้นไม่ยอมหนีไปที่อื่น เขาเลยย้อนถามท่านว่า หากเสือตัวนั้นมาและจะทำอันตรายแก่ท่านตาจริง ๆ จะทำอย่างไรล่ะ?
ท่านตาก็ตอบเขาอย่างทันควันว่า เสือมันจะเหนือธรรมไปได้หรือ? อีกอย่างหนึ่งชื่อของอาตมาก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า หลวงตาหาญ อะไรจะมาพาลก็ลองฤทธิ์กันดูวันนี้ จะไปกลัวอะไรกับเสือเล่า กิเลสมันร้ายกว่าเสืออาตมายังจะฆ่ามันอยู่เวลานี้ แต่ยังไม่ได้ที่เหมาะ กิเลสจึงรอมาป่านนี้ยังไม่ตาย บัดนี้ได้ที่ดีแล้วอาตมาจักฆ่ามันให้ตายในคืนวันนี้เอง รีบจัดที่ให้อาตมาเดี๋ยวนี้ กิเลสมันกวนเหลือเกิน
ด้วยความจำเป็นเขาเลยพร้อมกันจัดที่ให้ในพื้นราบ ใกล้กับซากศพควายซึ่งเสือกำลังกินและหวงอยู่ ประมาณ ๑ เส้นพอดี พอทำเสร็จแล้วเขาก็พากันกลับบ้าน ปล่อยขรัวตาหาญอยู่องค์เดียว
พอราว ๒๐.๐๐ น.เท่านั้น คู่มิตรสีแดงลายพาดกลอนของขรัวตาหาญก็มาถึงซากควายพอดี พอมาถึงซากควายก็มองเห็นมุ้งและกลดพระธรรมกรรมฐานตั้งตระหง่านขวางฟ้าอยู่ สหายผู้สำคัญของท่านก็ตรงเข้ามาอย่างไม่รีรอ พอถึงหอปราสาทพระธรรมเจ้าก็รีรอนิดหน่อยเพื่อฟังเหตุการณ์พระธรรมกรรมฐานจะสั่ง พระธรรมกรรมฐานพอเห็นท่าไม่ดีก็เลยเอ่ยคำขึ้นปราศรัยกับคู่บารมีของท่านว่า เรามาที่นี่ก็เพื่อจะโปรดเธอนั่นเอง เพราะเธอเป็นสัตว์อยู่ในป่ามาก็เป็นเวลานานแล้ว ฉันอยากจะให้เธอขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้ากับเขาบ้าง
พอเสือโคร่งใหญ่ลายพาดกลอนลำตัวยาว ๘ ศอก ได้ยินเสียงภายในมุ้งก็เกิดความสำคัญขึ้นทันทีว่า ใครจะมาแย่งอำนาจเราในป่าเวลาค่ำคืนเช่นนี้ ก็เริ่มคำรามเสียงขึ้นเป็นการทดลองพระธรรม ท่านจะโปรดจริง หรือท่านคลายเมตตาธรรม แล้วว่า ฮือ ครั้งที่ ๑ พระธรรมก็เงียบ นั่งตัวสั่นอยู่ในมุ้ง
เสียงปรากฏเหมือนฟ้าคำรามในฤดูเดือน ๖-๗ พอเริ่ม ฮือๆๆ ครั้งที่ ๒-๓  แล้วก็กระโดดข้ามมุ้งกลดพระธรรมกรรมฐาน ทั้งหางก็ฟาดพื้นดิน เสียงครางก็คำรามหนักเข้า แล้วกระโดดข้ามมุ้งกลดไปมา ขรัวตาหาญค้นคิดหามนต์คาถาบทใดก็ไม่เห็น แม้แต่ปฏิสังขาโยฯ ก็เพิ่งเริ่มเรียน เสือก็ยิ่งแสดงฤทธิ์หนักเข้าทุกที พอดีเล็บเสือเกาะมุ้งขรัวตาหาญเลิกขึ้น ขรัวตาสำคัญว่าเสือตะครุบก็ออกอุทานว่าตายแล้ว มือคว้าบาตรกับกระป๋องยาสูบอยู่ภายในบาตรได้ก็กระโดดวิ่งออกมา ไอ้เสือโคร่งตกประหม่าด้วยสำคัญว่าอะไร จึงกระโดดเข้าป่าไป
ฝ่ายขรัวตาวิ่งเข้าบ้าน ออกอุทานไปตามทางว่าแสๆ ๆ ไปตลอดทาง ทั้งเสียงกระป๋องยาสูบกระทบกับบาตรดังก๊อกๆ ทางปากขรัวตาดังแสๆ ๆ ก๊อกๆ ๆ เป็นเสียงกล่อมกันไปตลอดทาง เสียงบาตรก็ดังก๊อกๆ ๆ  เสียงปากก็ดังแสๆ ๆ ไม่มีหยุดยั้งได้ วิ่งเข้าบ้านจนเลยบ้านไปอีกไม่รู้ตัว เพราะความกลัวบังคับ ญาติโยมในบ้านได้ยินเสียงดัง ทั้งก๊อกๆ ทั้งแสๆ ผ่านบ้านไปไม่รู้อะไรเป็นอะไร กว่าจะวิ่งตามไป ขรัวตาวิ่งเลยบ้านไปเสียแล้ว ชาวบ้านเข้าใจกันว่าขรัวตาธรรมแตกเพราะความเพียรกล้าเกินไป กว่าจะวิ่งตามได้ตัวมา ท่านเสกคาถาแสๆ ๆ ไปได้ตั้งหลายเส้นไม่หยุดปาก ถามเรื่องอะไรเลยไม่ได้ความ มีแต่แสๆ กับมีแต่จะวิ่งต่อไปอีกโดยถ่ายเดียว จนพากลับมาถึงบ้านแล้วก็ยังมีคำว่าแสๆ อีก ยังมีคำว่าแสๆ อยู่ทำนองนั้นไม่หยุดปาก ผ้าสบง จีวรขาดหลุดลุ่ยไปหมด เหลือแต่ตัวและบาดแผลเต็มไปหมดทั้งตัว เพราะท่านวิ่งบุกป่า ไม่เดินตามทาง ชาวบ้านพร้อมกันมาถามก็ยังไม่ได้ความ คงมีแต่คำว่าแสๆ เท่านั้น ร่ายอยู่ไม่หยุดปาก จนกว่าฤทธิ์ความกลัวค่อยสร่างลง จึงได้ความว่าเสือกระโดดข้ามมุ้งจะกินหัว
ชาวบ้านเห็นท่าอาการหนักเช่นนั้น ก็พร้อมกันทำขวัญให้หลวงตาหาญพักใหญ่หนึ่ง ค่อยฟื้นสติคืนมาหน่อยหนึ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์ เขาเลยนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดในบ้านเพื่อโปรดโยม เพราะโปรดสัตว์โปรดเสือท่านก็เคยโปรดมาแล้ว ท่านบอกว่าไม่อยู่เพราะกลัวเสือ จึงต้องจัดวาระให้ญาติโยมมานอนเป็นเพื่อนท่านทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเวลาจะขาดคนไม่ได้ ถึงอย่างนั้นเวลาท่านไปบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ บางครั้งกำลังรับบาตรอยู่สุนัขวิ่งไล่กันมาใกล้ๆ ท่านตกประหม่าก็แสๆ ทันทีต่อหน้าทายกทายิกา เขาพร้อมกันขบขันหัวเราะท่านเสียงสนั่นไปทั่วบ้าน นับแต่ครั้งแสดงฤทธิ์กับเสือมาแล้ว ท่านตั้งใจไว้ไม่อยู่ เอะอะเป็นต้องแส ๆ ทันทีทุกครั้งที่กระทบเหตุ ไม่ยอมให้ผ่านไปได้ เสือตัวนั้นป่านนี้จะวิ่งไปถึงภูเขาลูกไหนก็ไม่รู้ ต่างคนต่างกลัวฤทธิ์กัน เสือเข้าป่า ขรัวตาเข้าบ้าน ต่อ ๆ มาได้โอกาสดี ชาวบ้านนึกขบขันขึ้นมาก็พูดหยอกเย้าท่านบ้างว่า ท่านตาไม่นึกอยากไปโปรดสัตว์โปรดเสือบ้างหรือ ท่านก็ดุทันที (ท่านจะว่าเสือๆ แต่เพราะความกลัวเผลอสติจึงออกเป็นแสๆ ไป)
การนำนิทานมาประกอบทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงหรือไม่จริง หากว่าท่านตาหาญไม่หวั่นไหวไปตามกิริยาของเสือคำราม ยั้งสติเฉพาะหน้า ถวายชีวิตไว้กับพระธรรมจริงๆ แต่ต้นมือแล้ว เสือคงไม่สามารถทำได้รุนแรงถึงขนาดนั้น เพราะเคยทราบเรื่องจากท่านนักปฏิบัติทั้งหลายซึ่งเคยประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน แต่ท่านยับยั้งจิตไว้ด้วยความเพียร ถวายชีวิตไว้กับพระธรรมเลย สัตว์ร้ายเกิดใจอ่อนและหนีไปเองไม่กล้าทำ เพราะความรู้สึกเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน ต่างแต่รูปกายเท่านั้น หากว่าตั้งจิตให้ชิดต่อธรรมแล้ว ท่านตาอาจได้อุบายสำคัญๆ เกิดขึ้น ในขณะสงครามเสือกับท่านกำลังเป็นไปอยู่ นี้ก็เพราะกล้าเกินตัว กลัวเกินไป เลยเสียหลัก
การประกอบความเพียรเพื่อชำระจิตให้ยิ่งเหนือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายได้อธิบายผ่านมาแล้ว
ธรรมทั้งนี้เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ อมใจความสำคัญๆ ของศาสนธรรมไว้หมด ในที่นี้มิได้นำพระบาลีมาลงประกอบ ผู้ต้องการโปรดดูในโอวาทปาฏิโมกข์

พุทธะไม่ใช่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าแต่ผู้เดียว
กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นของหายาก คำว่า พุทธะมี ๔ คือ พุทธะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ของพระปัจเจกพุทธะ ๑ ของสาวกทั้งหลาย ๑ และพุทธะของสามัญมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ๑
ก่อน พุทธะ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นแต่ละองค์ ๆ ปรากฏในตำราว่าต้องสร้างพระบารมีมากมาย ตั้งแต่ ๔ ถึง ๒๐ อสงไขย ไม่เช่นนั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าผู้แทนของไตรภพไม่ได้ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ต้องการความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่มาก ซึ่งเวลานี้กำลังสร้างบารมีอยู่
พุทธะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้รับจากพระบารมีนั้น เป็นพุทธะที่แปลกจากสามัญชนมาก ในด้านคุณภาพและความบริสุทธิ์ทั้งๆ ที่ธาตุรู้เดิมของพุทธะนี้เหมือนพุทธะของสามัญชนและสัตว์ทั่วไป แต่อาศัยพระองค์เป็นนายช่างผู้ฉลาด สามารถเจียระไนได้ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย คือพระบารมี ๑๐ มีศรัทธาบารมีเป็นต้น พุทธะอันนี้จึงปรากฏขึ้นมาเป็นคุณค่าแก่โลกทั่วสากลพิภพ พร้อมทั้งโลกได้ถือพุทธะอันนี้เป็นสรณะตลอดสมัยปัจจุบัน
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พุทธะที่มีอยู่ในสามัญมนุษย์และสัตว์ ต้องไหลมารวมเป็นความเชื่อความเลื่อมใส ฝากเป็นฝากตายกับพุทธะดวงวิเศษของพระพุทธเจ้า ดังเราทั้งหลายนอบน้อมถึงพระพุทธคุณอยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้นพุทธะซึ่งมีประจำองค์ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร ซึ่งเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลายฉะนั้น
ความเป็นพุทธะซึ่งจะพึงมีได้ในพุทธบริษัทเป็นคน ๆ ไปนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดแต่พระองค์เดียว และการวางศาสนธรรมลงไว้ประจำโลก ก็เพื่อพระประสงค์จะให้เวไนยชนยึดเป็นเครื่องมือถือเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสซึ่งสิงอยู่กับพุทธะไม่ให้ฉายแสงออกมาได้อย่างอิสรเสรีเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์อย่างอื่นใดทั้งสิ้น ในเมื่อพุทธบริษัทต่างทำหน้าที่ที่พระองค์ชี้บอกแล้ว นามว่าพุทธะซึ่งมีอยู่ประจำทุกท่าน เมื่อถูกซักฟอกด้วยธรรมที่ทรงมอบให้แล้ว ก็จักพึงเลื่อนฐานะของตนขึ้นสู่ความสงบโดยลำดับ ในที่สุดพุทธะดวงนั้นก็จะปรากฏดวงขึ้นเป็นพุทธะที่บริสุทธิ์เต็มที่ และจะเป็นสมบัติของเราโดยเฉพาะซึ่งหาได้ในตัวเอง โดยที่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเรียกค่าธรรมเนียมจากเราผู้ได้พุทธะดวงพิเศษแม้แต่น้อย  และยังมีความอิสรเสรีจากสิ่งที่เคยเป็นข้าศึกตลอดอนันตกาลด้วย
พุทธะของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ของพระสาวกทั้งหลายก็ดี ทั้งนี้กว่าจะอุบัติขึ้นมาในระหว่างโลกทั่วไปก็ดี ในระหว่างโลกคือขันธ์ก็ดีเป็นของยาก ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท ฉะนี้แล
            กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมเป็นของยาก ธรรมในที่นี้มี ๒ คือ ธรรมที่ผู้รู้ธรรมจริงทรงไว้ ๑ ธรรมที่ผู้ศึกษาทรงไว้ ๑ การฟังธรรมก็จัดให้มี ๒ เป็นคู่กัน คือการฟังธรรมเป็นของง่าย ๑ การฟังธรรมเป็นของยาก ๑ การฟังธรรมจากผู้แสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาประจำเช่นสมัยนี้ การฟังธรรมก็กลายเป็นของง่าย ยิ่งสมัยทุกวันนี้มีทั้งการแสดงทางวิทยุกระจายเสียง และแสดงตามวัดหรือสถานที่ต่าง ๆ จนผู้ฟังเบื่อ จะเห็นได้ในศาสนพิธีต่าง ๆ พอพระเริ่มจะแสดงธรรมก็ปรากฏกิริยาของผู้ฟังมีอาการชอบกล และสมัยต่อ ๆ มาจนถึงสมัยปัจจุบัน ผู้แสดงอาจมีจำนวนมาก ผู้ฟังอาจมีจำนวนน้อย
เมื่อของสิ่งใดมีปริมาณมากขึ้น ของสิ่งนั้นจะพึงลดคุณภาพและราคาลงตามความนิยมของคน แม้ของสิ่งนั้นจะทรงคุณภาพไว้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม เช่น สินค้าที่มีมากจากต่างประเทศที่ส่งเข้าปะทะกันมากราย จนถึงกับทำให้พ่อค้าใหญ่ ๆ ซึ่งหวังกำไรในการค้าด้วยกันเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น และเกิดความเสียหายเพราะเหตุทั้งนี้ก็มีมากราย
การฟังธรรมในทำนองที่ว่าผู้แสดงก็สักแต่ว่า ผู้สดับก็ทำนองเดียวกันเช่นนี้ การฟังธรรมจัดว่าเป็นของง่าย แต่การฟังธรรมจากผู้ทรงธรรมและรู้ธรรมอย่างแท้จริงภายในจิตอย่างพระพุทธเจ้าแลสาวกทั้งหลายรู้และสอนจริงตามที่รู้จริง และการฟังธรรมโดยธรรมชาติที่ประกาศกังวานอยู่ภายในกายในจิตตลอดเวลาตามที่อธิบายมาแล้ว กับผู้ฟังตั้งใจฟังเพื่อจะถือเอาประโยชน์จริง ๆ ในธรรม อย่างนี้การฟังธรรมจัดเป็นของยาก เพราะยากทั้งผู้แสดง ยากทั้งผู้ฟังในทำนองเดียวกัน
ฉะนั้นการฟังธรรมจึงจัดว่าเป็นของยากก็มีเป็นของง่ายก็มี ด้วยประการฉะนี้ 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~